สำนักงานราชบัณฑิตยสภาเตรียมเปิดตัว 2 แอพพลิเคชั่นสำคัญ “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554” และ “อ่านอย่างไร และเขียนอย่างไร” สำหรับใช้ในโทรศัพท์สมาร์ตโฟน หวังส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง คาดเปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรีภายในเดือนกันยายนนี้
วันนี้(26 ส.ค.) น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา(รภ.) ได้ดำเนินโครงการจัดทำโปรแกรมประยุกต์(application) เกี่ยวกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 และโปรแกรมประยุกต์อ่านอย่างไร และเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน สำหรับโทรศัพท์สมาร์ตโฟน โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) เป็นผู้พัฒนาโปรแกรมนั้น ขณะนี้การดำเนินงานมีความคืบหน้ามากกว่าร้อยละ 90 แล้ว โดยทางเนคเทคได้พัฒนาโปรแกรมต้นแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการทดลองใช้งานเพื่อปรับปรุงแก้ไขโปรแกรมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้ประชาชนดาวน์โหลดไปใช้งานได้ประมาณเดือนกันยายน 2558 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
น.ส.กนกวลี กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานในระยะแรกได้พัฒนาโปรแกรมประยุกต์ให้รองรับระบบปฏิบัติการ iOS version 8 และ Android โดยสามารถแสดงผลได้ทั้งเรียงตามหมวดอักษร และตามการค้นคำ เพียงพิมพ์ตัวอักษรตั้งต้น หลังจากนั้นระบบจะแสดงรายการคำให้เลือก เพื่อลดเวลาในการสืบค้น และยังมีระบบสถิติที่ผู้ใช้สามารถค้นหาจากประวัติการใช้งานได้ภายในเครื่องของตนเอง นอกจากนี้จุดเด่นของโปรแกรมประยุกต์ดังกล่าวจะอยู่ที่การแสดงคำศัพท์แต่ละรายการ จะมีทั้งคำตั้ง ชนิดของคำ คำอ่าน นิยาม และคำที่เกี่ยวข้องทั้งแม่คำและลูกคำ จึงทำให้ผู้ใช้สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างครอบคลุมครบถ้วน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการศึกษาเรียนรู้การใช้ภาษาไทย
“สำหรับโปรแกรมประยุกต์อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไรนั้น เมื่อผู้ใช้งานพิมพ์ศัพท์ที่ต้องการอ่าน ระบบจะแสดงผลคำอ่านที่ถูกต้องให้ และเมื่อพิมพ์คำศัพท์ที่มักเขียนผิดระบบก็จะแนะนำรูปเขียนที่ถูกต้องให้ นอกจากนี้ยังมีหลักเกณฑ์ต่างๆที่สามารถนำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการได้ ทั้งการอ่านคำวิสามานยนามทั่วไป การอ่านชื่อจังหวัด อำเภอ แขวง ตำบล ถนน ตรอก ซอย พระอารามหลวง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ การอ่านพยัญชนะไทย สระไทย วรรณยุกต์ไทย ตัวเลข เครื่องหมายต่างๆ เป็นต้น” น.ส.กนกวลี กล่าวและว่า หลังจากพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ทั้ง 2 โปรแกรมในระยะแรกเสร็จแล้ว จะดำเนินงานในระยะที่ 2 ต่อไปทันที เพื่อพัฒนาโปรแกรมให้รองรับระบบปฏิบัติการ iOS version 7 และ Windows Mobile อีกด้วย
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 สิงหาคม 2558