โดย สิทธิชัย นครวิลัย
ปรับคณะรัฐมนตรี "ประยุทธ์3" นอกจากจะได้รัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจใหม่เกือบทั้งหมดแล้ว ทางด้านสังคมก็ยังมีเปลี่ยนแปลงอยู่พอสมควร โดยเฉพาะที่กระทรวงศึกษาธิการ มีการเปลี่ยนเอา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ แทนที่พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ที่ขยับไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกันก็ยังได้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ขยับจากผู้ช่วยรัฐมนตรี ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการเพิ่มขึ้นอีกคน ซึ่งถือว่าที่กระทรวงนี้มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่น้อย ซึ่งย่อมหมายถึงการจับตามองและความคาดหวังที่เพิ่มตามไปด้วยเป็นเงา ตามตัว
เพราะเรื่องของการ"ปฏิรูปการศึกษา" เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาทุกยุคสมัย ทุกรัฐบาล แต่ก็มักไม่ได้มีการดำเนินการสานต่ออย่างจริงจัง
นายสมพงษ์จิตระดับ นักวิชาการครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า การที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาดูแลกระทรวงศึกษาธิการแทนที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย หลังการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด อาจเกิดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าใจถึงผลงานการปฏิรูปการศึกษา ว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
ทั้งนี้ ปัญหาการศึกษาไทยที่ตกต่ำ ถือเป็นเรื่องยากในการปฏิรูปและแก้ไขเพราะช่วงเวลาที่เหลืออีก 1 ปีของรัฐบาล คสช. และในฐานะรัฐมนตรีใหม่ จะต้องใช้เวลาเรียนรู้งานของกระทรวงอย่างน้อย 4-5 เดือน จึงจะเริ่มเดินหน้าทำงานได้
แต่เนื่องจากจุดเด่นของ พล.อ.ดาว์พงษ์ ที่เป็นอดีตเสนาธิการทหาร เป็นนายทหาร นักวางแผน เชื่อว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ จะเรียนรู้ งานและปัญหาต่างๆ จนเข้าใจ แล้วสามารถนำมาวางแผนเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้
"ประวัติการทำงาน ในฐานะอดีตรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ ก็มีความโดดเด่นเช่นกัน โดยเฉพาะการทวงคืนผืนป่าให้กลับคืนมา" นักวิชาการด้านการศึกษาไทย กล่าวจุดเด่นของการเป็นอดีตเสธฯ ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ นั้น นักการศึกษา ชี้ว่าอาจไม่เพียงพอสำหรับการทำงานเพื่อปฏิรูปการศึกษา การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่เข้าใจถึงปัญหาการศึกษาไทยอย่างถ่องแท้ เป็นสิ่งจำเป็นที่เจ้ากระทรวงและรัฐบาลทหารไม่อาจมอง ข้ามได้
เพราะที่ผ่านมา แม้จะอ้างว่ามี ผลงานการปฏิรูป แต่ยังไม่ใช่การปฏิรูปที่แท้จริง เป็นเพียงการแก้ปัญหาในวังวนเดิมๆ เช่น ปัญหาการอ่านออกเสียงของเด็กประถม การเร่งผลิตแรงงานระดับอาชีวะเพื่อป้อนตลาดอาเซียน หรือเปิดโครงการนำร่องด้านการศึกษา
นายสมพงษ์ ชี้ว่า หากมองย้อนไปที่ พล.ร.อ.ณรงค์ ในมุมนักบริหารแล้ว ผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งการปรับปรุงระบบการศึกษาระดับอาชีวะให้มีคุณภาพ ส่งเสริมฝีมืองานช่างให้ได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อถือและรองรับตลาดแรงงาน ในแง่ของงานเชิงนโยบายถือว่า "สอบผ่าน"
แต่ผลงานที่กล่าวมา ถือเป็นงานนโยบายปกติ ที่ผู้บริหารกระทรวงทุกคน ต้องดูแลและแก้ไข เพราะมันเกิดขึ้นทุกรัฐบาล
"คนที่เข้ามาทำงานในกระทรวงศึกษา คุณจับปัญหาอะไรขึ้นมาแก้ไข ก็เป็นผลงานได้ทั้งนั้น แต่มันไม่ใช่การปฏิรูป เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คุณต้องลำดับความสำคัญว่า อะไรควรต้องทำในช่วงนี้"
นักวิชาการด้านการศึกษา ชี้ไปที่งานปฏิรูปว่า จะต้องเป็นการปฏิรูปองค์กร ปฏิรูปความคิดเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ด้วยการรับฟังความเห็นจากคนนอกมากกว่าคนในกระทรวง แล้วลงมือในสิ่งที่ควรต้องทำ เช่นความเห็นที่เคยมีการเสนอให้ปฏิรูปกฎหมาย พระราชบัญญัติด้านการศึกษา ที่มีจำนวน 19 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2554 ที่เคยมีการเสนอให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ พ.ร.บ.บุคลากรทางการศึกษา และ พ.ร.บ.คุรุสภา เป็นต้น
ในแง่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เคยมีการสำรวจพบว่า นักเรียนในชนบทกับนักเรียนในเมือง ที่จบการศึกษาระดับเดียวกัน แต่มีความรู้ต่างกันถึง 3 ชั้นปี เช่น เด็กจบม.6 จากโรงเรียนบ้านนอก มีความรู้เท่าเด็ก ม.3 จากกรุงเทพฯ หรือ นักเรียนในชนบท 43% ไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้เลย
ส่วนการปฏิรูปด้านการเรียนรู้ ที่พบว่านักเรียนใช้เวลาเรียนมากมาย แต่มีผลคะแนนติดอันดับ 50 ของโลก ทั้งๆ ที่ประเทศไทย ทุ่มงบประมาณด้านการศึกษามากเป็นอันดับ 2 ของโลก
ขณะที่รายได้ของครู มีอัตราเงินตอบแทนที่สูงติดอันดับ 6 ของโลก แต่กลับสอนหนังสือแล้วพบว่าเด็กจำนวนมากไม่รู้เรื่อง สิ่งเหล่านี้ ไม่เคยพบจากผลงานในอดีต
นายสมพงษ์ ระบุถึงภาวะการเมืองในปัจจุบันว่า คงไม่ได้นักการศึกษาเข้ามาคุมกระทรวงแน่นอน แต่ช่วงนี้ถือเป็นโอกาสเดียวที่ประเทศไทยจะได้ปฏิรูปการศึกษา เพราะกฎหมายแต่ละฉบับกว่าจะผ่านมติคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องยากเย็น
ขอเสนอให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ โละทีม ที่ปรึกษาเดิมออกไปทั้งคณะ เพื่อเชิญ ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เข้ามาร่วมงาน แล้วเปิดใจกับนักวิชาการสาขาต่างๆ กับหน่วยงานที่ทำงานด้านการศึกษาอย่างจริงจัง เพียง 3 เดือนเท่านั้น ก็เห็นผลงานที่เป็นการปฏิรูปมากกว่า หากต้องการปฏิรูปประเทศจริงๆ ตามที่เคยระบุไว้เมื่อครั้ง คสช.เข้ามาบริหารประเทศ
"ทหารไม่มีภูมิหลังความเข้าใจระบบการศึกษา ฉะนั้นทีมที่ปรึกษาที่รู้จริงจึงสำคัญ เพื่อมาช่วยกันเรียงลำดับความสำคัญในการปฏิรูปเสียใหม่"
'วัลลภ'ดันรื้อโครงสร้าง-ขจัดทุจริต
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยอมรับว่า ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ยังไม่เห็นผลงานการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากปัญหาการศึกษาไทย ถูกหมักหมมมานานหลายสิบปี เช่น คุณภาพการศึกษา ปัญหาวิทยฐานะ ปัญหาจากการแบ่งเขตการศึกษา หรือปัญหาการทุจริต ล้วนต้องใช้เวลาแก้ไข
หากมีการปฏิรูปด้านโครงสร้างและการขจัดทุจริตในวงการศึกษา เพียง 2 ด้านนี้ ก็อาจเพียงพอให้ยกระดับระบบการศึกษาไทยได้ เพราะเมื่อการเรียกรับผลประโยชน์หมดไป ขณะที่แก้ไขโครงสร้างให้สามารถประสานงานได้ดี ตัวคุณภาพ การศึกษาไทยก็จะเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ดีระบบการศึกษาไทยในขณะนี้ ถือได้ว่าไม่ขี้เหร่ แต่ 1 ปีของ พล.ร.อ.ณรงค์ อดีตรัฐมนตรีศึกษาฯ ไม่เพียงพอต่อการปฏิรูป ยิ่งเมื่อเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี แล้วเหลือเวลาอีกเพียงปีเดียว ยิ่งทำให้น่าเห็นใจ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัฐมนตรี คนใหม่
"ไม่ใช่ว่า พล.ร.อ.ณรงค์ ไม่มีความสามารถ แต่เวลาเพียงปีเดียว มันสั้น มาก แล้วถ้าถามว่าเหลืออีกปีเดียว พล.อ.ดาว์พงษ์ จะทำให้อะไรได้ การศึกษาไทยจะมีโอกาสปฎิรูปหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะ ไม่ทราบสาเหตุที่เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี แต่เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องมีเหตุผลที่ดี"
นายวัลลภ ปฏิเสธเหตุผลการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีด้วยเหตุผลทางการเมืองว่า เป็นเรื่องยากและเป็นไปไม่ได้ เนื่องจาก การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี ไม่มีสูตรสำเร็จ ขอให้เป็นนักบริหาร รู้จักประนีประนอม และไม่จำเป็นต้องบุคคลในวิชาชีพนั้นๆ เช่นเดียวกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ หรือสาธารณสุข ที่เป็นคนในวงการแต่ก็ยังต้องสับเปลี่ยน
"ปัญหาที่ถูกหมักหมมมาหลายสิบปี หากมีการปฏิรูปโครงสร้างและขจัดทุจริต ก็อาจช่วยยกระดับระบบการศึกษาไทยได้"
"ที่ผ่านมายังไม่ใช่ การปฏิรูปเป็นเพียงการแก้ปัญหาในวังวนเดิมๆ แต่ในภาวะเช่นนี้ถือเป็นโอกาสเดียวที่จะได้ปฏิรูปการศึกษา"
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ