เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรี ว่า ช่วงเวลา 1 ปีได้ร่วมกับ รมช.ศึกษาธิการทั้ง 2 คน แก้ไขปัญหาจุดอ่อนของการจัดการศึกษา ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขาดแคลนครูโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ส่วนปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีหลายเรื่องที่ได้แก้ไขไปแล้ว อาทิ ปรับการประเมินวิทยฐานะที่ให้ยึดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กมากขึ้น เดินหน้าการปฏิรูปการศึกษา ให้ลงสู่ห้องเรียน ซึ่งก็ทำได้ระดับหนึ่ง เรื่องนี้ต้องใช้เวลา เพราะครูมีมาก 4-5 แสนคน
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่อยากดำเนินการให้แล้วเสร็จแต่ยังไม่ลุล่วง คือ โครงการคุรุทายาท และโครงการช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ ซึ่งเป็นโครงการที่จะมาผลิตครูใหม่ที่มีคุณภาพ ได้เสนอเรื่องให้ รศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกฯ พิจารณาคิดว่าจะเข้า ครม.เร็วๆ นี้ เป็นโครงการระยะยาว 15 ปี ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก อยากให้รัฐบาลทุ่มเทงบประมาณในการผลิตบุคลากรทางการศึกษาเพื่อไปเป็นครู อาจารย์ที่ดี เชื่อว่าผู้บริหารชุดใหม่จะคล้อยตามด้วย และเชื่อมั่นในความสามารถ โดยเฉพาะ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ คนใหม่ ว่าเป็นคนเก่งมีความเฉียบขาดหรืออาจจะตัดสินใจอะไรได้ดี
"ส่วนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) คุรุสภา และองค์การค้าของ สกสค.นั้น ที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการที่ค่อนข้างชัดเจนมาโดยตลอด ไม่ว่าใครมาก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน เช่น คดีการติดตามทวงเงินที่นำไปลงทุนกับเอกชน ซึ่งต้องเร่งดำเนินการแล้ว ยังมีหน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยดูแลอีก ไม่น่าเป็นห่วง สำหรับการปฏิบัติงานของคุรุสภา หรือ สกสค. ในการประชุมบอร์ดก็ได้มีการมอบหมายให้แต่ละสำนักงานไปดำเนินการปรับปรุงการบริการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของคุรุสภาที่จะต้องปรับปรุงการดำเนินงานให้ กระชับ หรือเรื่องการดูแลสวัสดิการของครูและบุคลากรทางการศึกษาของ สกสค. ที่จะพยายามนำเงินกองทุนที่มีอยู่มาช่วยเหลือดูแลสมาชิกให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุน" อดีตรมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก