สพฐ.ยกร่างประกาศแนวปฏิบัติประเมินผลสัมฤทธิ์ O-Net 3 กลุ่ม ที่มอบให้สถานศึกษาเป็นผู้ประเมิน
วานนี้ (20 ส.ค.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประกาศกำหนดวิชาในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net ระดับชั้น ป.6 ม.3 และม.6 เหลือ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนอีก 3 กลุ่มสาระฯ ได้แก่ สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยี ให้สถานศึกษาเป็นผู้ออกข้อสอบและจัดสอบเองโดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2558
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้ยกร่าง ประกาศ สพฐ. เรื่องรูปแบบ และแนวทางปฏิบัติในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนใน 3 กลุ่มสาระฯที่ไม่ได้ทำการทดสอบ O-Net ปีการศึกษา 2558 โดยกำหนดรูปแบบและแนวปฏิบัติเพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และ สถานศึกษาไปดำเนินการ ดังนี้ 1.ให้สถานศึกษาเป็นผู้ประเมิน โดยครอบคลุมการประเมินความรู้ ทักษะ กระบวนการ และการประเมินคุณลักษณะ 2.ให้ความสำคัญกับการประเมินภาคปฏิบัติ และ 3.การประเมินทั้ง 3 กลุ่มสาระฯ จะต้องสอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติของวิชาตลอดภาคเรียนหรือปีการศึกษา
"สถานศึกษาจะต้องประเมินผลตามสภาพความเป็นจริงและประเมินทั้ง 3 ส่วนพร้อมกัน โดยเน้นให้เด็กโครงงาน ชิ้นงาน จะไม่ใช้วิธีการประเมินด้วยการทำข้อสอบ ซึ่ง สพฐ.ได้วางกรอบควบคุมการประเมินไว้ด้วย เพื่อป้องกันการให้คะแนนเกินจริง ในเดือนกันยายนนี้ สถาบันทดสอบทางการศึกษา สพฐ.จะเชิญประชุม สพท.ศึกษานิเทศก์ เพื่อชี้แจงรายละเอียดดังกล่าว" นายกมลกล่าว--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน