หลังศาลปค.เพิกถอนคำตัดสินไล่ออก-ปลด6จนท.สปช.เหตุพลาดเทคนิคตั้งกก.
ศธ.หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย สั่งคุมเข้มกระบวนการสอบวินัยข้าราชการทุกกรณี หลังศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งไล่ออกและปลดข้าราชการ สปช. 6 คน กรณีซื้อห้องคอมพ์ โปรแกรมบริหาร รร.ประถม เนื่องจากศาลเห็นว่ากรรมการสอบมีส่วนได้-ส่วนเสีย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษข้าราชการปลดข้าราชการ 6 ราย โดยการปลดออกจากข้าราชการ กรณีการจัดซื้อห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์และโปรแกรมบริหารโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 5,999 หน่วย วงเงิน 360 ล้านบาท เพื่อใช้กับโรงเรียน 30,000 โรง ตั้งแต่ พ.ศ.2542 ที่ผ่านมา โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าการพิจารณาคำสั่งปกครองของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.พ.) ศธ. ที่เห็นชอบให้ลงโทษนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีบัญญัติห้ามเจ้าหน้าที่มีส่วนได้-ส่วนเสียร่วมนั่งเป็นกรรมการสอบสวนพิจารณาลงโทษด้วย ด้วยเหตุนี้ ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นควรว่าเป็นการลงโทษดังกล่าวดำเนินการโดยมิชอบในกระบวนการ
นพ.กำจรกล่าวต่อว่า จากนี้ ศธ.ก็จะต้องดำเนินการคืนตำแหน่งและเงินเดือนย้อนหลังให้กับข้าราชการทั้ง 6 รายด้วย โดยจะต้องไปคำนวณไปถึงการปรับขึ้นเงินเดือนตามปกติเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไปด้วย ส่วนผู้เกษียณอายุราชการไปแล้วก็จะได้รับบำเหน็จบำนาญตามสิทธิ์ หลังจากนี้จะต้องประสานไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อหารือถึงการจ่ายเงินดังกล่าว
"กรณีนี้ถือว่าเป็นการผิดพลาดในส่วนของกระบวนการ แต่ยังไม่ได้มีการพิจารณาความผิดที่เป็นของบุคคล ก็ต้องไปดูว่าจะมีการรื้อคดีกลับมาพิจารณาใหม่หรือไม่" ปลัด ศธ.กล่าว และว่า พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ก็ได้กำชับในที่ประชุมให้ระมัดระวังกระบวนการสอบสวนทางวินัย หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของข้าราชการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างที่อาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับญาติ หรือคนใกล้ชิด ซึ่งก็ถือว่าเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งผู้พิจารณาโทษจะต้องไม่มีส่วนได้-ส่วนเสีย โดย สป.ศธ.จะไปออกแบบแบบฟอร์ม ก่อนการพิจารณาตัดสินโทษ ให้คณะกรรมการได้พิจารณาตัวเองก่อนว่าเป็นผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียหรือไม่ และส่งให้ฝ่ายเลขาฯ เพื่อเก็บเป็นหลักฐาน ซึ่งมีหลายกระทรวงได้ดำเนินการมาแล้ว ทั้งนี้ สำหรับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาทางวินัยอย่างร้ายแรง รมว.ศธ.ก็สั่งให้เร่งดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากบางคดีกรรมการหรือประธานสอบสวนกำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าว เป็นคำสั่ง ศธ.ที่ สป.493/2542 สป.494/2542 สป.495/2542 สป.496/2542 สป.497/2542 และ สป.498/2542 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2542 ที่ลงโทษข้าราชการโดยไล่นายพิสิษฐ์ ศิวิลัย อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) และนายชัชวาลย์ วัดอักษร หัวหน้าฝ่ายสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ออกจากราชการ และปลดนายกมล ภู่ประเสริฐ เลขาธิการ กปช. นายเลี่ยม พูลเอี่ยม รองเลขาธิการ กปช. นายยุทธชัย อุตมา รองเลขาธิการ กปช. และนายเกียรติ อัมพรายน์ ผอ.สำนักนิเทศและพัฒนามาตรฐานการศึกษา สปช.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 18 สิงหาคม 2558