เปิดเผยผลวิจัยพฤติกรรมการอ่าน พบเด็กไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 1.51 ชั่วโมง ชี้เด็กชอบอ่านหนังสือที่บ้านมากที่สุด เผยเข้าใช้บริการห้องสมุดเพียง 1-2 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น จี้รัฐส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจัง
วันนี้ (18 ส.ค.) ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ผศ.ชนะใจ เดชวิทยาพร หัวหน้าโครงการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้และการอ่านของไทย พ.ศ.2559-2562 กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนาวิชาการ “การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากโครงการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้และการอ่านของไทย พ.ศ.2559-2562” ว่า จากการเก็บข้อมูลวิจัยพฤติกรรมการอ่านจากนักเรียน นักศึกษา 1,200 คน ผู้ปกครอง 180 คน และครูอาจารย์ 180 คน โดยการใช้แบบสอบถาม พบว่า นักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 83.2 ชอบการอ่าน แต่ใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ยวันละ 1.51 ชั่วโมง ขณะที่ผู้ปกครอง ร้อยละ 86.1 ชอบการอ่าน แต่ใช้เวลาในการอ่านวันละ 1.24 ชั่วโมง และมองว่าเด็ก หรือ บุตรใช้เวลาในการอ่านวันละ 1.08 ชั่วโมง ส่วนครูอาจารย์ ร้อยละ 95.6 ชอบการอ่าน แต่ใช้เวลาในการอ่านวันละ 1.64 ชั่วโมง สำหรับสถานที่ที่ชอบอ่านหนังสือบ่อยที่สุดคือ บ้าน รองลงมาคือ สถานศึกษา หรือ ห้องสมุด
“ครอบครัวมีส่วนสำคัญที่สุดในการส่งเสริมพฤติกรรมการอ่าน แต่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ซื้อหนังสือน้อย และไม่มีการจัดพื้นที่หรือบริเวณสำหรับการอ่านในบ้าน นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียน นักศึกษา เข้าใช้บริการห้องสมุดเพียง 1-2 ครั้งต่อเดือน ไม่เคยไปมุมหนังสือของหมู่บ้าน อย่างไรก็ตามหากจำแนกตามจังหวัด พบว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการซื้อหนังสือเป็นอันดับ 1 โดยจังหวัดยะลา ใช้เวลาเพื่อการอ่านหนังสือเฉลี่ยสูงสุด วันละ 1.87 ชั่วโมง รองลงมาคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล วันละ 1.73 ชั่วโมง ทั้งนี้ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้เวลาในการอ่านหนังสือมากที่สุด วันละ 1.63 ชั่วโมง สำหรับข้อเสนอแนะในการส่งเสริมให้เยาวชนรักการอ่านมากขึ้นนั้น ต้องสร้างแรงจูงใจในการอ่าน ควรมีหนังสือที่น่าสนใจ ราคาไม่แพง โรงเรียนกำหนดนโยบายชั่วโมงการอ่าน สร้างห้องสมุดให้มีบรรยากาศที่น่าอ่านหนังสือ ที่สำคัญรัฐบาลต้องมีนโยบายการส่งเสริมการอ่านที่จริงจัง และรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านอย่างแท้จริง” ผศ.ชนะใจ กล่าว.
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 สิงหาคม 2558