บทความโดย ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา
ตามที่ ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู ได้ออกหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญตามข้อตกลงในพัฒนางาน ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.4/ว 7 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2558
ด้วยความหวังจะอุดรูรั่วจากหลักเกณฑ์เดิมๆ ที่ผ่านมา ครูกลายเป็นจำเลยของสังคมว่า...ครูมีเงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนวิทยฐานะสูงกว่าบรรดาข้าราชการประเภทอื่น จนคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจอาชีพครูจำนวนมาก แต่คุณภาพการศึกษาโดยรวมของประเทศยังมีปัญหา
คำว่า ข้อตกลงในการพัฒนางาน หมายถึง ข้อเสนอในการพัฒนางานตามหน้าที่และความรับผิดชอบที่ผู้ขอรับการประเมินได้จัดทำไว้กับคณะกรรมการชุดที่ 1 และได้รับความเห็นชอบจาก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา หรือ ก.ค.ศ. แล้วแต่กรณี ให้เป็นข้อตกลงเพื่อแสดงว่าภายในระยะเวลาที่กำหนดจะพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้ดีขึ้น ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ และสามารถยกระดับคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพการศึกษาได้ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีระยะเวลาในการพัฒนา ไม่น้อยกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี
ทั้งนี้ คุณสมบัติที่จะขอรับการประเมินวิทยฐานะเชี่ยวชาญได้ จะต้องดำรงตำแหน่งครู/รองผอ.รร./ผอ.รร./รองผอ.เขต ฯลฯ แล้วแต่กรณี และมีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านการทดสอบความรู้ ความสามารถเชิงทฤษฎี และผ่านการประเมินประสบการณ์วิชาชีพจากส่วนราชการต้นสังกัด
นัยว่าหลักเกณฑ์นี้ มิได้เน้นในเรื่องการประเมินจากเอกสารทางวิชาการมากมาย แต่เน้นกระบวนการทำงานและผลของการพัฒนางาน โดยครูมีโอกาสได้รับการพัฒนาระหว่างการปฏิบัติงานภายในระยะเวลา 2 ปี โดยมีคณะกรรมการประเมิน 2 ชุด ได้แก่
คณะกรรมการชุดที่ 1 ทำหน้าที่พิจารณาข้อเสนอในการพัฒนางานตามหน้าที่และความรับผิดชอบเพื่อให้เป็นข้อตกลงในการพัฒนางาน และประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลงครั้งที่ 1 เมื่อได้พัฒนางานไปแล้ว 2 ภาคเรียน และครั้งที่ 2 ประเมินสรุปผลเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดตามข้อตกลง
ส่วน คณะกรรมการชุดที่ 2 ทำหน้าที่ประเมินตามข้อตกลงเพื่อพัฒนางาน เป็นระยะๆ ต่อเนื่องทุกภาคเรียน อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง และเป็นพี่เลี้ยงตลอดระยะเวลาของการพัฒนางานตามข้อตกลงด้วย
วิทยฐานะครู เป็นเครื่องบ่งชี้ความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญในวิชาชีพครู ซึ่งสังคมได้ตอบแทนด้วยเงินค่าตอบแทนจำนวนมากนอกเหนือจากเงินเดือนตามปกติตั้งแต่ระดับชำนาญการ (คศ.2) เป็นเงิน 3,500 บาท ระดับชำนาญการพิเศษ (คศ.3) เป็นเงิน 11,200 บาท ระดับเชี่ยวชาญ (คศ.4) เป็นเงิน 19,800 บาท
เมื่อรวมกับเงินเดือนแล้ว ประมาณระดับเชี่ยวชาญนั้น ราว 7-8 หมื่นบาททีเดียว แต่มิได้หมายความว่าจะได้รับการประเมินผ่านได้วิทยะฐานะ คศ.4 กันง่ายๆ
ทั้งประเทศมี 1,000 กว่าคนเท่านั้นเอง ขณะที่ คศ.3 มีราว 2 แสนคน ความหวังของสังคมไทยที่ต้องการเห็นคุณภาพการศึกษาดีขึ้นจากกระบวนการประเมิน ณ สถานที่จริง จากผลการปฏิบัติงานจริงๆ คราวนี้ คงไม่ทำให้สังคมไทยผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ วันที่ 14 - 20 ส.ค. 2558