พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาและบรรยายพิเศษในการประชุมสัมมนา "อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาภาคกลาง และ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง ในส่วนราชการ โดยมีอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง ในส่วนราชการ เข้าร่วมประชุมจำนวน 650 คน เมื่อวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2558 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน อำเภอสัตหีบ โดยมีนายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) ให้การต้อนรับ
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เป็นคณะบุคคลที่มีส่วนสำคัญต่อการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นจะพัฒนาและปฏิรูปการศึกษาที่ยึดหลักการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ และความต้องการของทุกภาคส่วน รวมทั้งการดูแล ส่งเสริม และยกสถานะของครู ผู้เป็นบุคลากรหลักในระบบการศึกษา ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงในสังคม มีระบบบริหารงานบุคคลที่ยึดหลักธรรมาภิบาล พัฒนาระบบประเมินวิทยฐานะครู
ดังนั้น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.ที่ ก.ค.ศ.ตั้งในส่วนราชการ จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม บังเกิดผลดีต่อคุณภาพการศึกษาของชาติ เพื่อเสริมสร้างให้ประเทศมั่นคงประชาชนมั่งคั่งต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการประเมินการจัดการศึกษาที่ผ่านมายังไม่เป็นที่น่าพอใจ และสวนทางกับงบประมาณที่ทุ่มลงไปจำนวนมาก แต่กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ให้หน่วยงานต่างๆ นำผลการประเมินทั้งจากหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ ไปพิจารณาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาแบบคู่ขนานและประสานงานร่วมกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่กำลังดำเนินการด้านการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีเรื่องของการศึกษาด้วย หรือที่เรียกว่า “แม่น้ำสามสาย” ว่า การศึกษาหรือกระทรวงศึกษาธิการเปรียบเสมือน “ต้นไม้ใหญ่” ที่อยู่มานาน อาจไม่แข็งแรงหรือสวยงามดังเดิม อาจมีแมลงมาชอนไชใบ การออกดอกออกผลน้อยลง หรือระบบรากอาจไม่ดีไม่แข็งแรง นั่นก็เป็นเพราะการขาดสารอาหาร ขาดปุ๋ยหรือยาเร่งดอกเร่งผล เช่นเดียวกับการศึกษาที่อาจจะมีข้อบกพร่องหรือมีผลผลิตไม่ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษา
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การปฏิรูปการศึกษานั้น จะต้องโค่นต้นไม้ใหญ่ทิ้งเสียเลย แต่จะต้องพิจารณาว่า ในระบบการศึกษากำลังขาดหรือมีปัญหาในส่วนใด ควรจะต้องซ่อมแซม แก้ไข ปรับปรุงให้ให้ต้นไม้การศึกษาเจริญงอกงามดังเดิมได้อย่างไร
จนถึงขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ปฏิรูปการศึกษาจนมีความก้าวหน้าในหลายส่วน โดยเฉพาะในเรื่องของครู ซึ่งมีคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่ทำหน้าที่ปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคลให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น
- การประเมินวิทยฐานะครู ที่มีการปรับปรุงโดยยึดประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ การพัฒนานักเรียนในห้องเรียน โดยครูจะต้องพัฒนาตนเอง เพื่อที่จะได้จัดการเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างมีคุณภาพ นั่นจึงจะเป็นผลงานของครูเพื่อนำมาประเมินวิทยฐานะ ซึ่งจะช่วยลดการจัดทำผลงานเอกสารวิชาการของครู ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ครูทิ้งห้องเรียน
- การย้ายครู ได้มีการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์การย้ายครู เพื่อให้ครูได้อยู่กับนักเรียนในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับนักเรียนโดยตรง โดยครูผู้สอนจะต้องปฏิบัติงานในสถานศึกษานั้นๆ ติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือนจึงจะย้ายได้ ส่วนครูผู้ช่วยจะต้องปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 4 ปี ส่วนปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์จากการโยกย้ายครูอยู่นั้น ได้รับทราบตลอดเวลา แต่ยังจับไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นการสมยอมกันของครูกับบางเขตพื้นที่การศึกษา หรือบางครั้งมีมูลแต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้ ซึ่งในอนาคตอาจจะนำวิธีการล่อซื้อยาเสพติดมาใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์ต่อไป
- การกำหนดมาตรฐานตำแหน่งของรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่จะต้องมีประสบการณ์ในการสอนมาก่อนเป็นเวลานานพอสมควร เพื่อให้ได้รู้จักชีวิตความเป็นครูอย่างถ่องแท้เสียก่อนที่จะขึ้นเป็นเป็นผู้บริหารสถานศึกษาได้
- การขับเคลื่อนงานในเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้การใช้อำนาจของ อ.ก.ค.ศ.มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เป็นที่พึ่งพาของครูและบุคลากรทางการศึกษา ยับยั้งการทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมการยกย่องเชิดชูครูที่ทำคุณงามความดี จึงขอให้นำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการทำงาน คือ ยึดหลักความมีส่วนร่วม หลักความโปร่งใส หลักความรับผิดชอบ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม และหลักความคุ้มค่า
ที่มาภาพจาก เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวย้ำให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนตัวเชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษาจะประสบความสำเร็จ ซึ่งจะต้องเกิดจากจุดที่เล็กที่สุดของระบบการศึกษาคือ การปฏิรูปห้องเรียน ควบคู่ไปกับการพัฒนานักเรียน ครู หลักสูตร ตำราและอุปกรณ์การเรียนการสอน ตลอดจนจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาจะเป็นกำลังสำคัญในการขอความร่วมมือหรือดึงหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาในแต่ละพื้นที่ต่อไป
นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กล่าวถึงการจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้ว่า สำนักงาน ก.ค.ศ.ในฐานะหน่วยงานดำเนินงานของ ก.ค.ศ. ตระหนักถึงความสำคัญของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งในส่วนราชการ เพราะเป็นองค์คณะบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงได้จัดประชุมสัมมนาขึ้นใน 4 ภูมิภาคขึ้น
โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 (ภาคกลาง) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 สิงหาคม 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบแนวนโยบายเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เป็นองค์คณะบุคคลที่ถึงพร้อมด้วยศักยภาพในการปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 650 คน ประกอบด้วยอนุกรรมการ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 50 คณะ อนุกรรมการ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 12 คณะ และ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งในส่วนราชการ 3 คณะ ตลอดจนคณะกรรมการใน ก.ค.ศ. เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมในครั้งนี้ด้วย
ภาพโดย ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี ที่มาจาก เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ
สำหรับวิทยากรในการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รศ.นายแพทย์ กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความรู้เกี่ยวกับจรรยาบรรณขององค์คณะบุคคล นายอาวุธ วรรณวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ค.ศ. ให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) และนายประนัย วณิชชานนท์ รองอธิบดีศาลปกครองนครศรีธรรมราช ให้ความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองกับการบริหารงานบุคคล
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ