ศ.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงระบบการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันว่า ส่วนตัวไม่กังวลกับหลักสูตร เพราะมีการพัฒนาเพิ่มเติมเนื้อหาสาระมาอย่างต่อเนื่อง แต่กังวลกับวิธีการเรียนการสอน ที่ครูในโรงเรียนยังคงเน้นการสอนแบบท่องจำ มากกว่าสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ เพื่อเป็นนักคิดนักปฏิบัติ เพราะวิธีการสอนนี้อาจใช้ได้เฉพาะในอดีต ที่เนื้อหาองค์ความรู้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเหมือนปัจจุบัน
ขณะนี้การเรียนการสอน นอกจากการท่องจำแล้ว ยังจำเป็นต้องสอนให้นักเรียนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากผู้เสพความรู้จากครู เป็นผู้สร้างความรู้ โดยเรียนรู้ด้วยตัวเองและนำมาเสนอถกกันในชั้นเรียน เช่น ในชั่วโมงเรียนควรจัดแบ่งเวลา 30-40 นาที ให้เป็นชั่วโมงแห่งการถกเถียง แลกเปลี่ยนโดยใช้เหตุผล เพราะจะทำให้นักเรียนต้องคิด ต้องศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล และเมื่อทำสม่ำเสมอ เด็กจะกลายเป็นนักนวัตกรรม นักคิดนอกกรอบและนักคิดสร้างสรรค์ได้
"ตอนนี้ระบบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เงียบมาก ไม่มีแนวทางพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน เป็นรูปแบบต่างคนต่างทำ ผมอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำกับนโยบายการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน การวัดประเมินโรงเรียน ครู ปรับข้อสอบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นข้อสอบคิดวิเคราะห์ เป็นต้น เพราะเราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนในห้องเรียน โดยครูต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เถียง นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยน ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอน ดังกล่าว ต้องเริ่มในชั้นประถมศึกษาไปจนถึงอุดมศึกษา เพราะหากไม่เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ประเทศไทยก็คงตกอยู่ในยุคสมัยการศึกษาแบบ Education 1.0 ครูบอกนักเรียนจำต่อไป ในขณะที่นานาประเทศเป็นยุคการศึกษา Education 4.0 สร้างนวัตกรรมหมดแล้ว" ศ.สุพจน์กล่าว
ที่มา ข่าวสด ฉบับวันที่ 11 ส.ค. 2558 (กรอบบ่าย)