นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศธ.ร่วมกับธนาคารออมสิน ออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยแบ่งลูกหนี้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มลูกหนี้วิกฤตรุนแรง 2.ลูกหนี้ใกล้วิกฤต คือลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 12 งวดติดต่อกัน นับถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2558 3.กลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 12 งวดติดต่อกัน นับถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2558 และ 4.กลุ่มลูกหนี้ปกติ โดยเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการที่ธนาคารออมสินถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ธนาคารออมสินได้แจ้งตัวเลขผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 21,680 ราย แบ่งเป็น ลูกหนี้วิกฤตรุนแรงที่อยู่ระหว่างถูกฟ้องร้อง และถูกดำเนินคดี 900 ราย ลูกหนี้ใกล้วิกฤต 780 ราย ที่เหลือเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 12 งวด และลูกหนี้ปกติ 20,000 ราย คิดเป็นมูลค่าหนี้ทั้งหมด 34,000 ล้านบาท
"ตัวเลขผู้เข้าร่วมโครงการถือว่าไม่มาก หากเทียบกับจำนวนหนี้สินครูที่ธนาคารออมสินรายงานว่ามีกว่า 500,000 ล้านบาท แต่ถือว่าน่าพอใจ โดยรอดูผลการตอบรับของผู้เข้าร่วมในครั้งนี้ก่อน ถึงจะพิจารณาว่าจะดำเนินการระยะที่สองหรือไม่ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป เพื่อช่วยให้ครูพอมีเวลาหายใจเท่านั้น แต่สุดท้ายผู้ที่ต้องชำระหนี้ทั้งหมดคือตัวครูเอง รัฐบาลคงไม่สามารถช่วยเหลือ หรือชำระหนี้แทนได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ระยะยาวคงต้องหามาตรการอื่นช่วย เพราะตรงนี้เป็นเพียงหนี้ในระบบ หนังสือพิมพ์มติชนรายวันยังไม่รวมหนี้นอกระบบที่มีกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยจะต้องหามาตรการไม่ให้ครูก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งผมพยายามรวบรวมประเด็นปัญหา และความจำเป็นที่ทำให้ครูเป็นหนี้ ที่นอกเหนือจากวิชาชีพ อาทิ ดูแลพ่อแม่ หรือความเจ็บป่วย ซึ่งกรณีเหล่านี้ควรเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่ต้องดูแล ไม่ใช่ดูแลหาแหล่งเงินกู้ ทำให้ครูเป็นหนี้เพิ่มเท่านั้น" นพ.กำจรกล่าว
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 11 ส.ค. 2558 (กรอบบ่าย)