ผลการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา 9/2558
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) - พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 9/2558 เมื่อวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2558 ระหว่างเวลา 13.30-17.45 น. ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร โดยมีพลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุม
เห็นชอบแนวทางการผ่อนคลายหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นหลักสูตรที่บังคับให้สถานศึกษาทุกขนาดทุกประเภทใช้เหมือนกัน ทั้งจำนวนชั่วโมงในการสอนแต่ละกลุ่มสาระ และบังคับให้ใช้ทุกตัวชี้วัดกับทุกระดับทุกกลุ่มสาระเหมือนกันทุกโรงเรียน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละโรงเรียน
ที่ประชุมจึงมอบให้คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งมีนางสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานอนุกรรมการฯ ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ครู ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้ดูแลหลักสูตร และผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา จาก 4 ภูมิภาคเข้าร่วมประชุม ซึ่งได้ข้อสรุปถึงแนวทางการผ่อนคลายหลักสูตรดังกล่าว แล้วนำมาเสนอให้ที่ประชุมครั้งนี้ได้พิจารณา
ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบแนวทางการผ่อนคลายหลักสูตรดังกล่าวใน 2 ประเด็น คือ
1) การผ่อนคลายจำนวนชั่วโมงที่สอนในแต่ละกลุ่มสาระ/แต่ละชั้นปี
ควรให้สถานศึกษากำหนดจำนวนชั่วโมงเองตามสภาพปัญหาและบริบทของตน แต่ต้องมีจำนวนชั่วโมงรวมครบถ้วนและจำนวนวันที่จัดการเรียนการสอนครบ 200 วันต่อปีการศึกษา
ทั้งนี้ การผ่อนคลายจำนวนชั่วโมงสอนดังกล่าว ในทางปฏิบัติมีความเป็นไปได้ เพราะจำนวนชั่วโมงที่กำหนดไว้ในหลักสูตร สามารถนับชั่วโมงได้จากทั้งใน/นอกห้องเรียน และการยืดหยุ่นของจำนวนชั่วโมงที่สอนในแต่ละสาระนั้น ถือว่าเอื้อประโยชน์ให้กับสถานศึกษาในการปรับเปลี่ยนเวลาให้สาระต่างๆ ตามปัญหาหรือจุดเน้นของแต่ละโรงเรียนได้
ข้อดีของการผ่อนคลาย คือ ครูสามารถคิดรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ๆ และหลากหลายมากขึ้น ให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เรียน และตรงกับจุดเน้นของสถานศึกษา ผู้ปกครอง รวมทั้งความต้องการของชุมชน ตลอดจนส่งผลให้เกิดเป็นชุมชนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพครู เพราะครูจะได้มาทำงานวิชาการร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น
2) การผ่อนคลายการวัดผลทุกตัวชี้วัด
โดยให้นำตัวชี้วัดออกให้หมดไปไว้ในภาคผนวก ไม่บังคับใช้ และให้นำเกณฑ์การวัดผลและประเมินผลผู้เรียนข้อ 2 "ผู้เรียนต้องได้รับการประเมินทุกตัวชี้วัดและผ่านเกณฑ์ตามที่สถานศึกษากำหนด" ออกไป ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพราะในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้น ครูไม่เพียงพอ หรือโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้ครบทุกตัวชี้วัดได้
ดังนั้น ข้อดีของการผ่อนคลายการวัดผลทุกตัวชี้วัด ก็จะเอื้อให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถบูรณาการวิชาการต่างๆ ได้ ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ก็สามารถมีจุดเน้นในสาระวิชาสำคัญๆ ของโรงเรียนได้ ทั้งยังจะช่วยให้ครูคิดรูปแบบใหม่ๆ ในการสอนโดยไม่ยึดติดกับตัวชี้วัดหรือวิธีการนับเวลาเรียนตามแบบเดิม ตลอดจนเป็นการเปิดโอกาสให้ครูสามารถสอนแบบบูรณาการได้อย่างเต็มที่ เพราะจะไม่เกิดความยุ่งยากในการจัดทำเอกสารเพื่อการวัดผลตามตัวชี้วัดแบบเดิมๆ อีกต่อไป
นอกจากนี้ การมีตัวชี้วัดหลักๆ ที่เหมือนกันทั่วประเทศ เป็นตัวชี้วัดที่มีลำดับขั้นของเกณฑ์ขั้นต่ำที่นักเรียนแต่ละคนควรมีในแต่ละสาขาวิชาและตามจุดเน้นของแต่ละสถานศึกษา ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ครูสามารถสอนแบบบูรณาการได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำข้อสรุปและแนวทางดังกล่าวไปพิจารณาออกประกาศ เรื่อง การผ่อนคลายหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ให้มีผลใช้บังคับภายในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 รวมทั้งให้ สพฐ.จัดเตรียมแนวทางการปฏิบัติไปสู่สถานศึกษา ทั้งในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาต่อไปด้วย
การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมสถานศึกษานิติบุคคลในกำกับ
ที่ประชุมได้พิจารณาหารือร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมสถานศึกษานิติบุคคลในกำกับ พ.ศ. .... ตามที่คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายการศึกษาได้เสนอ โดยมีหลักการเพื่อให้เป็นกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมให้สถานศึกษาของรัฐและเอกชนที่จัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา มีความเป็นอิสระและมีความคล่องตัว สามารถบริหารจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ได้หารือถึงแนวทางการดำเนินการ 2 รูปแบบที่สำคัญ คือ ควรดำเนินการในรูปแบบโรงเรียนที่เป็นนิติบุคคลแบบเดียวกับที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ หรือรูปแบบการเป็นสถานศึกษาที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ ตามที่เสนอ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ จึงขอให้คณะอนุกรรมการฯ นำความเห็นจากที่ประชุมไปพิจารณาปรับปรุงให้เกิดความรอบคอบและถี่ถ้วน รวมทั้งให้เชิญผู้ที่ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้มาหารือถึงแนวทางรูปแบบของการเป็นสถานศึกษานิติบุคคลที่เหมาะสมว่า ควรเลือกใช้รูปแบบใดหรือควรพิจารณาดำเนินการทั้ง 2 รูปแบบ
แต่สิ่งสำคัญคือ ควรจะต้องคำนึงถึงความสมัครใจและความพร้อมของแต่ละสถานศึกษา รวมทั้งนำปัญหาการเป็นนิติบุคคลของสถาบันอุดมศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งรัฐมนตรีหรือหน่วยงานส่วนกลางไม่มีอำนาจเข้าไปกำกับดูแล ต่างไปจากรูปแบบของรัฐวิสาหกิจที่แม้จะเป็นนิติบุคคล แต่ก็ยังมีเจ้าของเข้ามากำกับดูแล เป็นต้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า เมื่อกล่าวถึงการกระจายอำนาจ จะมองไปที่การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความอิสระและความคล่องตัวของสถานศึกษาเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่คนมักไม่ค่อยพูดถึงคือ เมื่อกระจายอำนาจไปแล้ว เกิดผลดีต่อวิชาการหรือคุณภาพการเรียนการสอนมากขึ้นได้อย่างไร จึงให้คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายการศึกษา นำความเห็นหลากหลายจากที่ประชุมไปปรับปรุงแก้ไข และให้นำเสนอที่ประชุมพิจารณาครั้งต่อไป
การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ พ.ศ. .... ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายการศึกษา ที่ได้มีการหารือร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษา สภาปฏิรูปการศึกษา
แต่ที่ประชุมเห็นว่าควรจะต้องมีการปรับแก้ในรายละเอียดอยู่บ้าง เช่น ประเด็นการเสนอชื่อบุคคลเป็นกรรมการเฉพาะเรื่อง ประเด็นอำนาจหน้าที่หลักของคณะกรรมการและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ ประเด็นสำนักงานฯ ควรเป็นส่วนราชการ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ฯลฯ
ทั้งนี้ ให้คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายการศึกษา นำความเห็นจากที่ประชุมไปปรับปรุงแก้ไข และนำเสนอที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบครั้งต่อไป
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ