เลื่อนประเมินภายนอกสถานศึกษา 1 ปี
เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ระบบออนไลน์/สมศ.ส่อรอดไม่ถูกยุบถ้าปรับปรุงสำเร็จ
"ยงยุทธ" เตรียมชง ครม.เลื่อนประเมินภายนอกสถานศึกษารอบ 4 ออกไปอีก 1 ปี เพื่อเข้าสู่ระบบประเมินแบบออนไลน์ ยันได้รับการตอบรับจากสถานศึกษา เพราะลดภาระได้ดี ส่งซิกอาจไม่ยุบ สมศ. หากปรับปรุงคุณภาพการประเมินให้สะท้อนการศึกษาที่แท้จริงได้สำเร็จ
นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเลื่อนเวลาการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 (ปีงบประมาณ 2559-2563) ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สำหรับสถานศึกษาทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ออกไปอีก 1 ปี เพื่อเตรียมความพร้อม ทั้งการปรับตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมิน รวมถึงดูข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากที่ผ่านมามีการตกลงการปรับรูปแบบวิธีการประเมินคุณภาพภายนอก
ทั้งนี้ จากการประเมินโดยลงพื้นที่ตรวจประเมินสถานศึกษาทุกแห่ง เป็นการประเมินรูปแบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสถานศึกษาผู้ถูกประเมิน รวมถึงให้ สมศ.ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการปรับเกณฑ์ต่างๆ แต่จะดูไม่ให้ผิดกฎหมายที่กำหนดให้มีการประเมินสถานศึกษาทุก 5 ปี ซึ่งคิดว่าจะสามารถดำเนินการได้ทัน เพราะยังพอมีเวลา โดยการประเมินรอบนี้ สถานศึกษาทุกแห่ง ทุกระดับ จะต้องส่งข้อมูลผ่านระบบออนไลน์เพื่อเข้ารับการประเมินซึ่งถือเป็นภาคบังคับ ซึ่งเท่าที่ดูได้รับเสียงตอบรับจากสถานศึกษาที่เข้ารับการประเมินในทิศทางค่อนข้างดี
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการประเมินออนไลน์จะไม่ได้ข้อมูลที่สะท้อนคุณภาพการจัดการศึกษาที่แท้จริงนั้น ไม่ต้องกังวล เพราะจะมีมาตรการป้องกันโดยจะมีการสุ่มตรวจเยี่ยมสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งจะพิจารณาตามหลักสถิติ ครอบคลุมทุกระดับคุณภาพ ทุกประเภท และทุกบริบทของสถานศึกษา เพื่อให้สามารถเป็นตัวแทนสะท้อนคุณภาพการศึกษาของทั้งประเทศได้
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มระบบประเมินภาคสมัครใจของสถานศึกษาด้วย ซึ่งเป็นระบบการประเมินที่จะมีเกณฑ์และตัวบ่งชี้ที่เข้มข้น และมีมาตรฐานในระดับนานาชาติ คล้ายกับการรับรองมาตรฐานในภาคอุตสาหกรรม
นายยงยุทธกล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงานประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีฐานะเป็นองค์การมหาชนแทน สมศ. ทำหน้าที่ให้คำแนะนำสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ประเมิน และพิจารณารับรองคุณภาพการศึกษานั้น ยังไม่มีการเสนอขึ้นมาให้รัฐบาลพิจารณา ซึ่งคงต้องมาดูว่ารูปแบบดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะขณะนี้ สมศ.เองก็กำลังปรับปรุงการดำเนินงานให้การประเมินสามารถสะท้อนคุณภาพการจัดการศึกษาที่แท้จริงได้ ดังนั้นคงต้องให้โอกาสทาง สมศ.ด้วย.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 10 สิงหาคม 2558