เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2558 ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ได้โพสต์ในเฟซบุ๊คชื่อ ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก หัวข้อ เขาห้ามผมทำ แต่ไม่ห้ามผมคิด ซึ่งตอนนี้ เป็น ตอนที่ 7 แล้ว เรื่อง "การศึกษาไทยต้องลงทุนอีกเท่าไรถึงจะพอ" มาติดตามอ่านกันดูครับ
เขาห้ามผมทำ แต่ไม่ห้ามผมคิด
ตอนที่ 7 : การศึกษาไทยต้องลงทุนอีกเท่าไรถึงจะพอ
.........................................................................
คงมีความสุขและอิ่มบุญกันถ้วนหน้านะครับสำหรับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย สำหรับการทำบุญในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผู้นำและนักบวชในทุกศาสนาต่างก็มีบทบาทเป็นอย่างยิ่งในเรื่องการศึกษาตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมที่ส่งเสริมให้คนงมงาย คำเชิญชวนให้ทำบุญแบบไม่ค่อยสมเหตุสมผล ควรลดๆลงบ้างก็จะดีสำหรับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้
หันกลับมาคุยเรื่องการศึกษากับเรื่องเงินๆทองๆกันดีกว่าก่อนจะบาปไปมากกว่านี้ครับ มีหลายคนตั้งคำถามว่า ประเทศไทยเราต้องลงทุนเพื่อการศึกษาอีกเท่าไร เด็กไทยจึงจะมีคุณภาพมากกว่าเดิม ตามความเห็นของผม ผมคิดว่างบประมาณเพื่อการศึกษาในปัจจุบัน ประมาณร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนั้นพอเพียงแล้ว แต่งบประมาณที่จะไปถึงผู้เรียนแต่ละคนนั้นผมเห็นว่ายังไม่พอเพียง หลายคนเริ่มงงๆ อะไรกันเดี๋ยวพอ เดี๋ยวไม่พอ สรุปใหม่นะครับ ภาพรวมพอ แต่เพื่อการพัฒนาผู้เรียนแต่ละคนไม่พอ โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยต้องลงทุนมากกว่านี้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรามีงาน/โครงการต่างๆเป็นจำนวนมากที่คิดว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้เรียน แต่เมื่อดำเนินการงาน/โครงการจบแล้ว ผลที่ได้รับกลับไม่ถึงผู้เรียนหรือถึงน้อยมาก เราคงของบประมาณเพื่อการศึกษาไม่ได้มากไปกว่านี้อีกแล้วครับ แล้วเราจะทำอย่างไร ผมคิดง่ายๆแต่อาจทำยากถ้าไม่มุ่งมั่น ตั้งใจและอยากจะทำ ดังนี้
1. ลดงาน/โครงการที่ส่งผลอ้อมๆและอ้อมมากที่สุดกว่าจะถึงผู้เรียนทั้งหมด เหลือไว้เฉพาะหลักๆ เช่น การพัฒนาหลักสูตร การกำหนดมาตรฐาน การวิจัยและพัฒนา การติดตามประเมินผล งบที่เหลือเปลี่ยนเป็นเงินอุดหนุน ส่งไปให้โรงเรียนทั้งหมด ก่อนทำแบบนี้ต้องจัดระเบียบโรงเรียนก่อนนะครับ เช่น โรงเรียนไม่มีผู้เรียน โรงเรียนเล็กมากๆและมีความจำเป็นน้อย แต่ลงทุนสูง เป็นต้น หลายคนบอกว่าเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายแล้ว ทำไม่ได้หรอก ผมมักให้คำตอบกับคนประเภทนี้ไปว่า ทำยากกับทำไม่ได้ คนละความหมายกัน
2. คิดต้นทุนที่แท้จริงสำหรับจัดการศึกษาให้กับผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐาน ต้นทุนดังกล่าวต้องคิดทั้งหมด ทั้งงบบุคลากร งบดำเนินงาน งบลงทุน(ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้าง) งบอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น ปี 2559 สพฐ.ได้รับงบประมาณ320,299496,900 บาท มีผู้เรียน7,213,749 คน เฉลี่ยลงทุน 44,485 บาทต่อผู้เรียน1คน เราตัดไว้ทำงาน/โครงการหลักๆสักจำนวนหนึ่ง ที่เหลือส่งไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรืออนาคตกำลังจะมีสมัชชาการศึกษาจังหวัด คณะกรรมการการศึกษาจังหวัด ให้นำงบประมาณนี้ไปบริหารจัดการเลย ตอนจัดสรรงบประมาณเราคงดูบริบทภูมิสังคม ถ้าเหมือนกันได้รับเท่ากัน ถ้าต่างกันได้รับต่างกัน ผมคิดว่าปัญหาต่างๆอาจหมดไปโดยปริยาย เช่น ปัญหาโรงเรียนเล็ก ปัญหาครูขาด ครูเกิน ครูไม่ตรงวิชาเอก ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างพอเพียง/ไม่พอเพียง การพัฒนาครูตรง/ไม่ตรงความต้องการ เป็นต้น
ผมเสนอแนวคิดลักษณะนี้ในตอนก่อนๆ หลายคนเห็นด้วย หลายคนบอกว่าเพ้อเจ้อ ผมถือว่าเป็นเรื่องของ " สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวแพรว" เป็น mindset ของแต่ละคนและรับได้ทุกความคิดเห็นครับ
ขอบคุณที่มาจากเฟซบุ๊ค ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก วันที่ 2 สิงหาคม 2558