เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่หอประชุมคุรุสภาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้จัดการประชุมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ โดยมีผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ กว่า 300 คนเข้าร่วมประชุม
ดร.กมล รอดคล้ายเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ซึ่งเป็นประธานเปิดการประชุม ได้กล่าวว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยเยาวชนรุ่นหลังที่ไม่สนใจวิชาประวัติศาสตร์เพราะเป็นศาสตร์พื้นฐานสำคัญในการธำรงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ของประเทศ เช่นเดียวกับเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เข้ามาบริหารประเทศก็ให้ความสำคัญกับการเรียนวิชาประวัติศาสตร์เป็นอันแรก ๆรวมถึงหน้าที่พลเมือง ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ด้วยและให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ไปปรับปรุงการเรียนการสอน
ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ปรับรายละเอียดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพ.ศ. 2551 นำวิชาประวัติศาสตร์ไปรวมไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม กำหนดให้สถานศึกษาทุกระดับให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์โดยให้จัดเป็นวิชาเฉพาะอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงและปรับโครงสร้างเวลาเรียนหลักสูตรแกนกลางฯโดยชั้น ป.1-6 และ ม. 1-3 เพิ่มเวลาเรียนประวัติศาสตร์ 40 ชั่วโมงต่อปี ส่วนม. 4-6 ให้เรียนประวัติศาสตร์ 80 ชั่วโมงตลอด 3 ปีโดยจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้ภาคภูมิใจได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ในชุมชน
เลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวต่อไปว่า “เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา12 สิงหาคม 2558 นี้ สพฐ.กำหนดจัดกิจกรรม “การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เพื่อร่วมแสดงออกถึงความจงรักภักดี พร้อมทั้งกำหนดให้เดือนสิงหาคมเป็นเดือนแห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามแนวพระราชดำริฯให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทุกโรงจัดกิจกรรมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่นความเป็นมาชุมชน วัด ตลาด วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี การประกอบอาชีพ เป็นต้นโดยส่งเสริมให้ค้นคว้าด้วยตนเอง หรือจากผู้รู้ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนรักและภาคภูมิใจในชุมชนของตนที่สำคัญเพื่อให้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของบูรพกษัตริย์และความเป็นชาติไทย”
นอกจากนี้ได้ เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 225 เขตทั่วประเทศไปคัดเลือกโรงเรียนแกนนำ เขตละ 5 โรง รวม 1,125 โรง ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ 4 ขั้นตอน ได้แก่สำรวจชุมชน วางแผนเก็บข้อมูล ศึกษาแหล่งเรียนรู้ และนำเสนอวิธีการทางประวัติศาสตร์ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้จัดทำสรุปรายงานกิจกรรมเสนอให้ สพฐ.รวบรวม เพื่อนำไปเผยแพร่เป็นตัวอย่างต่อโรงเรียนอื่นๆต่อไป
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 สิงหาคม 2558