สมศ.จี้รัฐเพิ่มครูเฉพาะทางช่วยโรงเรียนคนพิการ ชี้ผลการประเมินดีมาก แต่ยังต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการจัดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า จากภาพรวมการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 ที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียนสำหรับผู้พิการล้วนได้รับ การประเมินระดับดีถึงดีมาก แต่ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและส่งเสริม จากภาครัฐ โดยเฉพาะด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ ด้านจิตวิทยาการศึกษาพิเศษ ด้านกายภาพบำบัด ด้านกิจกรรมบำบัด เช่น ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด ตลอดจนความเชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ซึ่งขาดการสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ทำให้ภาพรวมยังขาดนวัตกรรมในการพัฒนา ยังไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและการฝึกทักษะการเรียนการสอนสอดคล้องตามประเภทและระดับความพิการ สำหรับภาพรวมของประเทศไทยขณะนี้ มีประชากรผู้บกพร่องทางร่างกายหรือพิการ ประมาณ 1.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 2.9 ของประชากรทั้งหมด จากผลสำรวจผู้พิการทั่วประเทศ อายุระหว่าง 2-30 ปี มีเพียงร้อยละ 18.3 ที่กำลังศึกษาอยู่ แต่อีกร้อยละ 81.7 หรือกว่า 2.3 แสนคน ไม่ได้เรียนหนังสือ
ผอ.สมศ.ยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนเฉพาะสำหรับผู้พิการ 43 แห่ง ใน 35 จังหวัด สามารถรองรับผู้พิการได้ถึง 15,000 คน รูปแบบโรงเรียนแบบประจำในทุกช่วงชั้นตั้งแต่ระดับปฐมวัย-ม.ปลาย แบ่งเป็น 1.สถานศึกษาที่สอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน 20 แห่ง ใน 20 จังหวัด รองรับได้ 5,000 คน 2.สถานศึกษาที่สอนเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา 19 แห่ง ใน 19 จังหวัด รองรับได้ 7,000 คน 3.สถานศึกษาที่สอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น 2 แห่ง ใน 2 จังหวัด รองรับได้ 300 คน และ 4.สถานศึกษาที่สอนเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ 2 แห่ง ใน 2 จังหวัด รองรับได้ 400 คน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 6 ส.ค. 2558 (กรอบบ่าย)