ชี้ปัญหาผลิตครูไทยแก้แบบต่างคนต่างทำ
นักการศึกษาชี้การผลิตครูไทยยังขาดความเชื่อมโยง เน้นเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ ส่งผลการพัฒนาครูไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ฟินแลนด์-สิงคโปร์ทำงานร่วมกันทุกฝ่าย
วันนี้ (3 ส.ค.) รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกันระหว่างคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศ และนักการศึกษาระดับนานาชาติจากประเทศฟินแลนด์ และสิงคโปร์ เรื่องการผลิตและพัฒนาครู เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่า การผลิตและพัฒนาครูของไทย มีความแตกต่างกับฟินแลนด์และสิงคโปร์อย่างมาก เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีการเชื่อมโยงตั้งแต่สถาบันผลิตครู หน่วยงานผู้ใช้ครู และผู้ประเมินครู แต่ของไทยทำงานแบบแยกส่วนกัน โดยสถาบันผลิตครูทำหน้าที่ผลิตครูโดยคำนึงถึงแต่ปริมาณ ไม่ดูคุณภาพ ขณะที่หน่วยงานผู้ใช้ครูไม่มีการกำหนดตัวเลขความต้องการครูในแต่ละรายวิชาที่ชัดเจน ส่วนผู้ประเมินก็ใช้รูปแบบการประเมินแบบเดียว ทั้งที่สถาบันผลิตครูมีความแตกต่างกัน ทำให้การพัฒนาครูของไทยจึงยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
“สถาบันผลิตครูต้องไม่ทำหน้าที่เพียงผู้ผลิตครูเท่านั้น แต่ต้องลงไปช่วยพัฒนาโรงเรียนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้มีการลงพื้นที่ช่วยเหลือโรงเรียนในจังหวัดสระบุรี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของครู ขณะเดียวกันยังได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการผลิตครูที่ตอบโจทย์บริบทของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ และสำรวจว่าผู้ที่จบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จบออกไปแล้วเป็นครูในสัดส่วนเท่าใด เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้มีการผลิตครูออกมาจำนวนมาก แต่ครูยังขาดแคลนในบางสาขาวิชา”รศ.ดร.บัญชา กล่าว
ด้าน รศ.ดร. อี หลิง โลว์ ผู้เชี่ยวชาญทีมประเมินและพัฒนาสถาบันครุศึกษา ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ครูในสิงคโปร์มีความพร้อมในการพัฒนาตนเอง โดยครูไม่หยุดนิ่งที่จะคิดรูปแบบการเรียนการสอนที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ขณะที่รัฐก็ส่งเสริมทั้งงบประมาณด้านการวิจัย การจัดสัมมนาเชิงวิชาการอย่างเต็มที่ ทำให้การพัฒนาด้านครุศึกษาของสิงคโปร์ได้รับการยอมรับในระดับสากล.“
อ่านต่อที่ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 3 สิงหาคม 2558