นักวิชาการเผย 13 พฤติกรรมลบในการใช้สื่อของเยาวชนไทย
นักวิชาการสถาบันการสื่อสารสาธารณะชี้เด็กไทยยุคปัจจุบันไร้ความสามารถในการจัดการข้อมูล เสพสื่ออย่างไร้ความรับผิดชอบ ฉะสื่อเป็นตัวกระตุ้นเร่งเด็กเข้าถึงเรื่องเพศเร็วขึ้น
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันการสื่อสารสาธารณะ (สวส.) กล่าวเวทีระดับชาติว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทยที่ร่วมจัดกับภาคีเครือข่าย 16 องค์กร มีการเสวนาในหัวข้อ “การเฝ้าระวังเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน” ณ ห้อง 409 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงคนที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา หรือที่เราเรียกันว่า เจเนอรัลชันซี หรือ Gen C เป็นรุ่นที่มีปัญหามาก คือ เป็นกลุ่มที่หลงตัวเอง ขี้เกียจ ชอบพิทักษ์สิทธิ เป็นกลุ่มที่เกิดมาในยุคโซเชียลเลิร์นนิ่งสามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้จากอินเทอร์เน็ต ไม่มีใครมาผูกขาดทางความคิด เป็นยุคที่เด็กเลือกคัดลอกเนื้อหาจากอินเทอร์เน็ตแล้วส่งงาน ทำให้ปัจจุบันเด็กไทยมีปัญหาในการใช้ข้อมูล เรียกง่ายๆ ว่า เด็กบ้านเราใช้ข้อมูลไม่เป็น เวลาค้นหาข้อมูลในกูเกิลมีร้อยล้านข้อมูลแสดงขึ้นมา แต่สิ่งที่เด็กยุคนี้ทำคือคลิกเลือกข้อมูลลำดับที่ 1 2 3 แล้วคัดลอกมาวางเพื่อส่งนั้นแสดงให้เห็นถึงการไม่มีความสามารถในการจัดการความรู้
นายธาม กล่าวว่า ในปี 2015 เป็นยุคที่ผู้คนหยิบโทรศัพท์มือถือเพื่ออัพเดทข้อมูลข่าวสาร แต่ไม่ใช่การอัพเดทข้อมูลข่าวสารเว็บหลัก สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเสพข่าวตามเพื่อนที่อยู่ในโลกโซเชียล เช่น โพสต์ข่าวแบบไหน แชร์แบบไหน คบใครก็ได้ข่าวแบบนั้น แชร์ข่าวจากใครก็ได้โลกทัศน์แบบนั้น ธุรกิจข้อมูลกับธุรกิจโทรคมนาคมกลายเป็นธุรกิจเดียวกัน เกิดการเสพสื่อ แชร์สื่ออย่างไม่มีความรับผิดชอบ
"เราจึงเห็นข่าวนักเรียนไทยไปนาซาร์ที่ดาวพลูโต เพราะเยาวชนในปัจจุบันนี้ชอบการสร้างอัตลักษณ์ตัวตน ชอบการสื่อสารในทันที สื่อสารข้ามวัฒนธรรม ชอบความมีปฏิสัมพันธ์ ปัจเจกชนนิยม และชอบแยกตัวโดดเดี่ยวจากสังคม"
นักวิชาการสถาบันการสื่อสารสาธารณะ กล่าวถึงพฤติกรรมการเลียนแบบของเด็กว่า ในอดีตเด็กจะเลียนแบบดาราจากโทรทัศน์ แต่ในยุคโซเชียลเด็กเลียนแบบพฤติกรรมจากเน็ตไอดอล พริตตี้ อยากสวยอยากได้ยอดไลค์มากๆ ต้องถ่ายรูปแบบไหน ถ่ายแบบเห็นหน้าอก โชว์สัดส่วน มาจากการเลียนแบบจากบุคคลในโลกออนไลน์ ฉะนั้นสื่อออนไลน์จึงเปรียบเสมือนปุ๋ยชั้นดีที่เร่งให้เด็กเข้าถึงในเรื่องเพศมากขึ้น เด็กในต่างจังหวัดไปโรงเรียนถ่ายรูปแต่งตัวในห้องน้ำ เอามาโพสต์ลงโซเชียลเพื่อเรียกยอดไลค์ สื่อจึงทำให้เด็กสนใจแต่เรื่องความงาม เนื่องจากตลาดของความงามค่อนข้างจำกัดตลาด เด็กเสพติดการเซลฟี่ โพสต์รูปเพื่อรอจำนวนไลค์ ยอดแชร์ ส่งผลให้ความถนัดในคุณค่าเนื้อหาที่แท้จริงของเด็กไทยหายไป
นอกจากนี้ นายธามยัง กล่าวถึง 13 พฤติกรรมลบของการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตของเยาวชนไทยด้วยว่า
1.ใช้สื่อมากเกินไปในแต่ละวัน เสพติดอินเทอร์เน็ต ขาดปฏิสัมพันธ์กับสังคม
2.ใช้สื่อเปิดเผยอัตลักษณ์ส่วนบุคคลและข้อมูลที่อยู่บนเครือข่ายสาธารณะ
3.ใช้สื่อเข้าถึงเนื้อหาอันตราย สื่อลามก อนาจาร ยาเสพติด การพนัน
4.ใช้สื่อในธุรกรรมการเงิน ค้าขาย การสมัครสมาชิกกลุ่มที่ไม่เหมาะสม
5.ใช้สื่อเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงและการต่อต้านสังคม
6.ใช้สื่อบนเครือข่ายสนทนาออนไลน์และนำไปสู่การล่อลวงทางออนไลน์
7.ใช้สื่อออนไลน์ที่ไร้สาระ มุ่งเน้นเสพความบันเทิงมากเกินไป
8.ใช้สื่อสร้างสถานะภาพทางสังคม สร้างตัวตนเสมือน ติดกับดักการมีชื่อเสียง
9.ใช้สื่อในการรังแก กลั่นแกล้ง ล้อเลียน ประณามเพื่อนออนไลน์
10.ใช้สื่อสร้างความเกลียดชัง อคติ และไล่ล่าแม่มด
11.ใช้สื่อที่ขาดทักษะในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
12.ใช้สื่อเพื่อลอกการบ้าน ทำรายงานวิชาการ คัดลอกขโมยข้อมูล
13.ใช้สื่อเพื่อการสร้างกระแสอารมณ์ดร่ามา
ที่มา สำนักข่าวอิศรา วันที่ 31 กรกฎาคม 2558