นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษา โดยเน้นความสำคัญไปที่การเรียนการสอนภาษาไทย และประกาศให้ปี 2558 เป็นปีที่ปลอดนักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้นั้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หลังจากรับนโยบายมาสู่การปฏิบัติแล้วให้สถาบันภาษาไทย ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) ดำเนินการตามนโยบายทันที
ล่าสุดสถาบันภาษาไทย สวก. รายงานความก้าวหน้าในระหว่างเดือนเม.ย.-มิ.ย. กลับมาว่า ได้จัดทำ "โครงการพลิกโฉมโรงเรียนป.1 อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี" โดยจัดอบรมแนวทางพัฒนาการทางสมอง (บีบีแอล) ผ่านระบบทางไกลผ่านดาวเทียมดีแอลทีวี และเผยแพร่ทางเว็บไซต์โครงการ ให้กับผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ครูภาษาไทย ป.1 ทั่วประเทศ 65,000 คน ระหว่างวันที่ 23-24 พ.ค. ที่ผ่านมา
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า จากนั้นคัดเลือกโรงเรียนแกนนำจากทุกเขตพื้นที่ฯ รวม 2,022 โรง เพื่อให้ผู้บริหารสพท. ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ครูภาษาไทย ป.1 จำนวน 5,600 คน เข้ารับการอบรมระหว่างเดือนพ.ค.-มิ.ย. ก่อนเผยแพร่การอบรมไปยังครูกลุ่มเป้าหมายอีก 400,000 คน ทางเว็บไซต์ดีแอลไอที ควบคู่กันนี้ได้แจกหนังสือแบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1 ชั้นป.1 ตอนกลาง ชั้นป.2 และตอนปลายชั้นป.3 พร้อมคู่มือการสอนให้กับโรงเรียนที่จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาทุกโรง เพื่อส่งเสริมการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ ทั้งนี้ สถาบันภาษาไทย สวก. กำหนดให้สพท.ที่มีโรงเรียนประถมศึกษา รายงานผลกลับมาทุกเดือนเป็นรายโรงจนถึงเดือนก.พ.59
"ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-2 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 18 เขต รวม 54 โรง ซึ่งจะทราบข้อมูลที่แน่ชัดว่าสพท. ไหนมีอัตรานักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ภายในเดือนส.ค. นี้" นายกมลกล่าว
ที่มา ข่าวสด ฉบับวันที่ 28 ก.ค. 2558 (กรอบบ่าย)