สพฐ.วางโครงร่างปรับหลักสูตรระยะสั้น ยืดหยุ่นให้โรงเรียนสามารถจัดตารางการเรียนของตนเองได้ เริ่มภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 นี้ แล้วค่อยนำผลมาประเมิน วิเคราะห์ และถามความเห็นประชาชน ก่อนออกมาเป็นหลักสูตรระยะยาว คาดใช้เวลา 2 ปี เผยล่าสุด รมว.ศธ.นั่งเป็นประธานบอร์ดพัฒนาหลักสูตรแล้ว
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับมติเห็นชอบเรื่องการปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ครั้งใหญ่ของประเทศ จากที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยการปรับหลักสูตรจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 1.โครงการปรับปรุงหลักสูตรระยะสั้น จะปรับหลักสูตรในลักษณะยืดหยุ่น ให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการตารางเรียนได้เอง ที่จะเริ่มใช้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ซึ่งทาง สพฐ.จะมอบตัวอย่างแนวทางการจัดตารางเรียนในลักษณะยืดหยุ่นให้แต่ละโรงเรียน โดยผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหากโรงเรียนใดมีความพร้อมจะจัดการเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าว ก็สามารถมาติดต่อขอรับแนวทางดังกล่าวจากเขตพื้นที่ฯ ได้
นายกมลกล่าวต่อว่า 2.การปรับหลักสูตรในระยะยาว ที่ประชุมก็ได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาหลักสูตร ที่จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน และมีผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ หน่วยงานที่จัดการศึกษาที่จะต้องนำหลักสูตรไปใช้ และนักวิชาการที่เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ อย่าง นักวิชาการด้านสื่อการเรียนรู้ เป็นต้น นอกจากนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สพฐ.ตั้งคณะกรรมการดำเนินการหลักสูตรขึ้น ซึ่งต้องมีนักวิชาการด้านต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการ เนื่องจากการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนไม่เพียงแต่ปรับให้แตกต่างจากเดิมเท่านั้น เมื่อปรับแล้วยังต้องมีการผลิตสื่อการเรียนรู้และตำราเรียนรองรับ อีกทั้งยังมีเรื่องการประเมินผลต่างๆ ตามมาด้วย ซึ่งตัวหลักสูตรคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี ซึ่ง สพฐ.ได้ดำเนินการวิเคราะห์ตัวหลักสูตรเดิม ถามความเห็นจากประชาชน และศึกษาตัวอย่างหลักสูตรของประเทศต่างๆ แล้ว ขณะนี้เป็นขั้นตอนการร่างคุณลักษณะของผู้เรียน และเป้าประสงค์ของการพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประเทศ
"การปรับหลักสูตร สพฐ.ต้องฟังความเห็นจากประชาชน ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางความต้องการคนของซูเปอร์บอร์ดการศึกษา เพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการของประเทศให้ได้ และยังต้องนำผลการประเมินการดำเนินการของในการปรับหลักสูตรระยะสั้น ว่าทำแล้วได้ผลตอบรับอย่างไร เพื่อมาเป็นตัวอย่างให้กับการปรับหลักสูตรใหญ่ครั้งนี้ด้วย" เลขาฯ กพฐ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 27 กรกฎาคม 2558