การศึกษาไทยคุณภาพต่ำ จะพัฒนา ได้อย่างไรนั้น ดร.ปัญญา แก้วกียูร นักการศึกษาเห็นว่า นอกจากปัญหาเชิงนโยบายแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องครู
“ครูไม่ได้ทำหน้าที่ครูอย่างแท้จริง เพราะว่าต้องเอาเวลาไปทำงานวิชาการ ทำหน้าที่ทางธุรการ แย่งเวลาสอนนักเรียนไปจึงควรคืนครูให้กับนักเรียน ให้สอนนักเรียน อย่าให้ครูไปทำงานอื่นที่ไม่ใช่การพัฒนาศักยภาพนักเรียน”
ดร.ปัญญายันเจตนาในงานสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ กทม. จัดโดยมูลนิธิหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
โรงเรียนไทยรัฐวิทยาเกิดขึ้นด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของ ผอ.กำพล วัชรพล ด้วยเห็นว่า “ผมเรียนมาน้อย ต้องทำมาหากินตั้งแต่เด็ก พอมีฐานะขึ้นมาอย่างนี้ จึงอยากสนับสนุนการศึกษา ช่วยให้เด็กยากจนได้มีโอกาส”
การเรียนการสอนในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา นายมานิจ สุขสมจิตร กรรมการบริหารมูลนิธิไทยรัฐ เน้นว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยาได้จัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ เข้มแข็ง และมียุทธศาสตร์ในการบริหารที่ดีมีระบบการพัฒนาบุคลากร ชุมชนสัมพันธ์ และการเรียนรู้ที่ยั่งยืนเสมอมา
มูลนิธิได้เกื้อหนุนใน 2 ประเด็นหลักคือ 1.ให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กในชนบท และ 2.สอนให้เป็นคนดี มีกระบวนการหา ความรู้ ความจริง เป็นพลเมืองดี รักท้องถิ่น และภูมิใจในความเป็นไทย
โรงเรียนไทยรัฐวิทยาเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2512 ถึงปี พ.ศ.2558 มีทั้งหมด 101 แห่ง ครู 24,212 คน และนักเรียน 1,688 คน
คุณภาพของการศึกษาจะยกระดับได้อย่างไร ในทรรศนะของผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา อย่าง ดร.ดุจดาว โตบางป่า ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 4 อ.บางเลน จังหวัดนครปฐม บอกว่า ระดับนโยบาย ถ้าจะให้การศึกษาดีขึ้น ผู้บริหารที่ไปดูงานต่างประเทศ เมื่อพบอะไรดีจะหยิบมาใช้กับเมืองไทย ขอให้คำนึงถึงเด็กไทยด้วยว่าการเลี้ยงดูเราต่างกัน
ดังนั้น การสร้างนโยบาย น่าจะดูที่รากเหง้าการก่อรูปของ นโยบายที่ผ่านมาด้วย สิ่งที่ดีอยู่แล้วน่าจะค่อยๆเปลี่ยนไปตามบริบทของเมืองไทย ไม่ใช่ไปเอาของเขามาแล้วก็สั่งลงมาที่โรงเรียน โรงเรียนก็ทำ แต่เมื่อเปลี่ยนผู้นำนโยบายก็เปลี่ยนอีก ทำเหมือนไฟไหม้ฟาง การกำหนดนโยบายอยากให้ดูแผนการศึกษาของชาติ สร้างมาแล้วให้นำไปปฏิบัติอย่างจริงจังและจริงใจ ระยะเวลาของแผนควรกำหนดเลยว่ากี่ปีพอ แล้วทำตามนั้น เพื่อเด็กจะได้รับประโยชน์
“เดี๋ยวนี้ให้โรงเรียนทำเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ส่งขึ้นมา เหมือนจะดูจากล่างขึ้นมา แต่ในทางปฏิบัติคุณโยนให้เรา ถึงเวลาก็เอาตัววัดเดียวกันมาประเมิน เหมือนเอาเสื้อตัวเดียวกันให้ใส่ทั้งเตรียมอุดมและโรงเรียนทั่วประเทศ”
ปัญหาระดับนโยบายนี้ ดร.ชาร์รีฟท์ ลือนิ ผอ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 10 จังหวัดนราธิวาส เห็นว่ามีปัญหาหลายประเด็น ได้แก่
1.เรื่องนโยบายที่เปลี่ยนบ่อย ขาดความยั่งยืน มักเปลี่ยนไปตามรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ จนกลายเป็นว่า การเมืองนำการศึกษา แทนที่การศึกษาจะนำการเมือง
2.เรื่องหลักสูตร โดยเฉพาะเรื่องเวลาเรียน เด็กไทยระดับประถมเราเรียนไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา และบวกหน้าที่พลเมืองอีกเป็น 1,040 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ามาก ขณะที่มาเลเซียมีเพียง 7-800 ชม.เท่านั้นเอง แต่ทำไมผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเขาดีกว่า พร้อมตั้งคำถามว่า กลุ่มสาระของเรามากเกินไปหรือเปล่า จำเป็นต่อการดำรงชีวิตทุกกลุ่มหรือไม่ และยังมีความซ้ำซ้อนกัน จึงควรตัดให้เหลือน้อยลง แล้วบูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกัน
3.เรื่องวิทยฐานะทางวิชาชีพครู ตอนนี้คุณครูมีวิทยฐานะสูงขึ้น เงินเดือนก็เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันคุณภาพของเด็กกลับต่ำลง นั่นแสดงว่าคุณครูไม่ได้ทุ่มเทเวลาในการพัฒนาการเรียนการสอน มัวแต่ไปนั่งทำเอกสารเพื่อรอการประเมินวิทยฐานะใช่หรือไม่
4. การบริหารงบประมาณ การคิดโครงการต่างๆ ควรให้โรงเรียนเป็นผู้คิด ไม่ใช่คิดจากด้านบนลงมา เพราะจะไม่ตรงกับความต้องการของพื้นที่
5.นวัตกรรมการบริหารและจัดการเรียนการสอน มักมาตามกระแส ไม่มีความยั่งยืน และยังไม่มีการตรวจสอบคุณภาพด้วยว่าแต่ละอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
และ 6.การกำกับติดตาม โดยเฉพาะกลุ่มนิเทศติดตามประเมินผล ขาดการติดตามอย่างต่อเนื่อง การลงไปตรวจเยี่ยมน้อยครั้งแล้ว ถึงโรงเรียนบางรายแทนที่จะแนะนำเรื่องการเรียนการสอน กลับไปแนะนำเรื่องการจัดตั้งถังขยะในห้องเรียน
มองลงมาระดับผู้บริหารการศึกษา ดร.ดุจดาวบอกว่า ผู้บริหารการศึกษาต้องมีคุณลักษณะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง รู้จักปรับนโยบายมาใช้ให้เหมาะสมและยั่งยืน และผู้บริหารก็ต้องยั่งยืนด้วย ไม่ใช่มาอยู่แค่หกเดือนแล้วไป และผู้บริหารต้องให้โอกาสครูส่งเสริมให้ครูมีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองสอน ความรู้ในสิ่งที่ตัวเองจะต้องพัฒนาเด็ก
ส่วนครู ต้องเห็นความแตกต่างของผู้เรียน ใส่ใจในความแตกต่างของเด็กให้เท่าเทียมกัน ให้โอกาสทุกคนได้เรียน ได้ทำกิจกรรมเท่าเทียมกัน และเหมาะสมในวัย ผู้บริหารจะต้องส่งเสริมให้ครูเกิดการเรียนรู้ และที่สำคัญต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครูด้วย
สำหรับปัญหาของครูนั้น “ครูมักมุ่งสร้างผลงาน สร้างวิทยฐานะของตนเอง บางคนสั่งงานให้เด็กทำ แล้วตัวเองก็นั่งทำงานไป ไม่ใส่ใจว่าเด็กคนไหนทำได้ ทำไม่ได้”
ส่วน ดร.ชาร์รีฟท์มองไปที่ครูว่า เหมือนครูต้องทิ้งห้องเรียนไม่ได้ดูแลเรื่องการจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ ต้องไปอบรม เตรียมการประเมิน ต้องรายงานข้อมูลหน่วยงานต่างๆ “กลายเป็นครูต้องทิ้งภาระการสอน เพื่อไปทำข้อมูลเพื่อรายงานไปยังหน่วยงานอื่นๆจนมีความรู้สึกว่า โรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการกระทรวงเดียวหรือเปล่า”
เมื่อมองไปที่เด็ก ดร.ชาร์รีฟท์ มองว่าเด็กสมัยนี้มีความสนใจในบทเรียนน้อยมาก “มันผิดที่การจัดการเรียนการสอนหรือที่ตัวเด็ก สิ่งแวดล้อมนอกห้องเด็กสนใจมากกว่าหรือเปล่า สื่อต่างๆ เด็กสนใจมากกว่าหรือเปล่า ครูต้องมีกลยุทธ์ในการสร้างแรงจูงใจ และครูก็ต้องมีจิตวิทยาในการสอน”
เรื่องความสนใจของเด็ก ดร.ดุจดาวเห็นว่า นอกจากวิธีการสอนของครูแล้ว ก็น่าเห็นใจครู ที่มุ่งสอนให้ครบหลักสูตร อาจเป็นสาเหตุให้เด็กเบื่อได้เหมือนกัน”
ดังนั้น เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ควรแก้ไขตั้งแต่นโยบาย ทั้งเรื่องหลักสูตร เวลาเรียน และครูผู้สอน.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 23 ก.ค.2558