Advertisement
ชวนชม เป็นพรรณไม้ที่มีสีสันของดอกสวยงามสะดุดตา มีรูปทรงของต้นและกิ่งก้านที่สวยงามและอ่อนช้อยนุ่มนวล เป็นไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพแห้งแล้งจนได้รับสมญาว่า Derert Rose หรือ "กุหลาบทะเลทราย" นอกจากนี้ชวนชมยังเป็นชื่อที่มีความไพเราะเป็นศิริมงคลตามความเชื่อของคนไทย แม้แต่ชาวจีนซึ่งเรียกชวนชมว่า "ปู้กุ้ยฮวย" หรือ ดอกไม้แห่งความร่ำรวยก็ยังมีความหมายไปในทางศิริมงคลเช่นกัน |
ชวนชมมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาค้นพบครั้งแรกโดยนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ P. Forskal ทางภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกาแถบประเทศแทนซาเนียและเคนย่าราวปี พ.ศ. 2305 แต่กลุ่มนักพฤกษศาสตร์ในสมัยนั้นเชื่อว่าไม้ดอกที่พบเป็นเพียงลั่นทมพันธุ์ใหม่ และในราวปี พศ. 2357 นายโจเซฟ ออกัสต์ ซูลตส์ ( Josef August Schultes ) นักพฤกษศาสตร์ชาวออสเตรียได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างชวนชมกับลั่นทม จนเป็นที่ยอมรับว่า ชวนชมคือดอกไม้ชนิดใหม่
สำหรับในประเทศไทย ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีผู้นำชวนชมเข้ามาปลูกเลี้ยงตั้งแต่เมื่อใด แต่จากหลักฐานพอสันนิษฐานได้ว่า มีการนำชวนชมเข้ามาปลูกเลี้ยงในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 70 ปีแล้ว โดยผ่านทางราชสำนักหลังการเสด็จประพาสต่างประเทศ เพราะมีการพบเห็นชวนชมปลูกอยู่ในเขตพระราชวังและวังเจ้านายทั่วไป จากการสืบค้นของ อาจารย์วิชัย อภัยสุวรรณ (ผู้เขียนหนังสือ "ไม้ดอกและประวัติไม้ดอกเมืองไทย") ทราบว่า อย่างน้อยที่สุดคนไทยรู้จักเล่นชวนชมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสีองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้ทรงนำพันธุ์ชวนชมเข้าไปปลูกในพระตำหนักลักษมีวิลาศ แต่ไม่มีผู้ใดทราบว่าทรงนำต้นชวนชมมาจากแหล่วใด แต่ที่ปรากฏแน่ชัดคือ พระองค์ประทานชื่อดอกไม้นี้ว่า "ชวนชม" |
ชวนชมพันธุ์ แพรแถบ
|
ลักษณะโดยทั่วไป
ชวนชมเป็นพืชที่มีเนื้อเยื่ออ่อน เปลือกของลำต้นบาง ต้นและกิ่งก้านกลมมียางใส จัดเป็นพืชในวงศ์ Apocynaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับลั่นทม พืชในวงศ์นี้มีมากมายถึง 300 สกุลและมากกว่า 1,300 ชนิด มีทั้งไม้ล้มลุก ไม้เลื้อย ไม้พุ่มและไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในป่าเขตร้อน สำหรับชวนชมถูกจะดอยู่ในสกุล Adenium obesum มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา มีหลายชื่อ เช่น Pink Bignonia , Mock Azalea , Desert Rose , Impala Lily , Kudu Lily และ Sabi Star
ลำต้น เป็นไม้เนื้ออ่อน อวบน้ำ ต้นและกิ่งเป็นลำกลม ผิวค่อนข้างเรียบสีเขียวอมเทา เปลือกบาง แตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ ส่วนโคนของลำต้นพองออกมีขนาดรูปทรงใหญ่เล็กแตกต่างกันไปเรียกว่า " โขด " มีไว้สำหรับเก็บน้ำเพื่อรักษาสมดุลของต้น
โขด ของชวนชมคือรากที่ใช้สะสมอาหาร เช่นเดียวกับ เผือก มัน หรือพืชที่มีหัวทั่วไป มีลักษณะบวมออกเป็นหัวขนาดใหญ่อยู่ใต้ดินหรือโผล่ขึ้นเหนือดินมีรูปทรงแตกต่างกันไป
|
|
|
ใบ เป็นใบแบบเดี่ยว ออกเวียนรอบกิ่งคล้ายกังหันหลายๆ ชั้น และออกหนาแน่นตามปลายกิ่ง ใบของชวนชมมีหลายลักษณะแตกต่างกันขึ้นกับสายพันธุ์ เช่น ใบรูปไข่ ใบรูปหอก ปลายใบมีทั้งเว้า มน แหลมและใบตัด ขอบใบเรียบ หยักหรือเป็นคลื่น แผ่นใบหนาแข็งเขียวเข้มเป็นมันหรือบางพันธุ์มีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ที่ใต้ท้องใบ มีขนาดใหญ่และเล็กแตกต่างกันไป
ดอก ชวนชมจะออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อหนึ่งประมาณ 10-20 ดอก มีทั้งแบบบานพร้อมกันทั้งช่อและทยอยบานครั้งละ 4-5 ดอก บานได้นาน 10-20 วัน ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 8-10 ซม.
- กลีบเลี้ยง มีลักษณะเป็นกลีบเล็กๆ 5 กลีบ รูปรี ปลายแหลม ติดอยู่รอบโคนดอกเหนือฐานรองดอก มีสีแดง เขียว ชมพูอมแดงหรือเหลืองอมเขียว เมื่อดอกร่วงแล้วกลีบดอกยังติดแน่นอยู่ที่ฐานรองดอก
- โคนกลีบดอกหรือหลอดดอก คือส่วนที่อยู่ต่อจากกลีบเลี้ยงขึ้นมามีลักษณะเป็นทรงกรวยกลมยาว โคนหลอดเรียวเล็กลงติดกับกลีบเลี้ยง ปลายบานออกติดกับกลีบดอก
- กลีบดอก มี 5 กลีบ เรียงติดอยู่รอบโคนกลีบดอกหรือหลอดดอกคล้ายปากแตร แต่ละกลีบมีรูปทรงหลายแบบ คือ รูปกลม รูปไข่ รูปแถบและรูปรี
- เกสรตัวผู้ อยู่ตรงส่วนโคนของหลอดดอก เป็นรูปกระโจมคลุมยอดเกสรตัวเมีย ประกอบด้วยละอองเรณู 5 อันเรียงติดกันบนก้านชูเกสรตัวผู้ มีโคนระยางค์เชื่อมต่อจากปลายเกสรตัวผู้ยาวขึ้นไปตลอดหลอดดอก 5 เส้น ภายในอับละอองเรณูนี้เมื่อแก่พร้อมที่จะผสมเกสร จะมีละอองเกสรตัวผู้มีลักษณะเป็นขุยสีเหลืองละเอียด
- เกสรตัวเมีย อยู่ตรงส่วนโคนของหลอดดอก ล้อมรอบด้วยเกสรตัวผู้ ประกอบด้วยยอดเกสรตัวเมีย ก้านชูเกสรตัวเมีย และรังไข่ ยอดเกสรตัวเมียมีรูปกลมสีขาวขุ่น มีท่อยาวลงไปที่รังไข่ซึ่งอยู่ติดกับฐานรองดอก ภายในรังไข่มีไข่อ่อน เมื่อเกสรตัวเมียพร้อมที่จะผสมเกสรจะมีเมือกเหนียวคล้ายแป้งเปียก และเมื่อมีการผสมพันธุ์ไข่อ่อนภายในรังไข่จะเจริญไปเป็นเมล็ดต่อไป
|
|
|
ฝักหรือผล มีลักษณะคล้ายบูมเมอแรงหรือเขาคู่เป็นฝักสองฝักอยู่ติดกัน ปลายและโคนเรียวแหลมยาวประมาณ 10-30 ซม. ขั้วของฝักอยู่ตรงตะเข็บแนวเชื่อมระหว่างเขาทั้งสอง ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อฝักแก่จะมีสีน้ำตาลอ่อนตะเข็บแนวเชื่อมจะแตกออก ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อนเล็กๆ คล้ายเมล็ดข้าวเปลือก มีขนสีน้ำตาลอ่อนเป็นพู่ติดอยู่ที่ปลายแหลมทั้งสองข้าง ขนที่ปลายทั้งสองนี้จะช่วยให้เมล็ดปลิวไปตามลมได้ไกล
|
การปลูกเลี้ยงและดูแลรักษา
ดินปลูก เดิมชวนชมเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบแอฟริกาซึ่งมีสภาพแห้งแล้ง เมื่อนำมาปลูกในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า ดินปลูกที่ดีขึ้น ชวนชมย่อมเจริญเติบโตได้ดีกว่าในดินทรายถิ่นกำเนิดเดิม แต่โครงสร้างของต้นชวนชมก็ยังเป็นไม้อวบน้ำอยู่เช่นเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม คือต้นยังอวบน้ำและทนน้ำขังไม่ได้ ดังนั้นดินที่เหมาะในการปลูกชวนชมจึงควรเป็นดินโปร่งร่วนซุย มีการระบายน้ำได้ดีคล้ายดินทราย ผู้ปลูกเลี้ยงส่วนใหญ่จึงนิยมเติมวัสดุปรุงดินต่างๆ เพิ่มลงไปในดินเพื่อให้มีความร่วนซุย เช่น ใบก้ามปู กาบมะพร้าวสับ เปลือกถั่วลิสง แกลบดิบ และทรายหยาบ สูตรดินผสมที่ใช้ปลูกชวนชมได้ดีมีหลายสูตร ดังตัวอย่างต่อไปนี้
สูตรที่ 1 |
ทราย
ใบไม้ผุหรือแกลบผุ
ปุ๋ยคอกเก่า
ขุยมะพร้าว |
1
1
1
1 |
ส่วน
ส่วน
ส่วน
ส่วน |
สูตรที่ 2 |
ทราย
ขี้เถ้าแกลบ
ปุ๋ยคอกเก่า
ใบก้ามปูผุ |
1
1
1
2 |
ส่วน
ส่วน
ส่วน
ส่วน |
สูตรที่ 3 |
ดิน
แกลบผุ
ปุ๋ยคอกเก่า
กาบมะพร้าวสับ |
1
2
1
1 |
ส่วน
ส่วน
ส่วน
ส่วน |
การให้น้ำ ชวนชมเป็นพืชที่มีลำต้นอุ้มน้ำไว้ค่อนข้างมาก จึงทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี หากชวนชมอยู่ในสภาพที่แฉะเกินไปหรือมีน้ำขังจะทำให้มีอาการเหี่ยวเฉา ใบเหลืองและร่วง โขดหรือหัวเน่าได้ง่าย ชวนชมเป็นไม้ที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งและฟื้นตัวได้ง่าย เช่น ถ้างดน้ำประมาณ 1 สัปดาห์ ลักษณะต้นจะนิ่ม เมื่อได้รับน้ำและปุ๋ยอีกครั้งชวนชมจะแตกใบขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าขาดน้ำนานเกินไปใบจะเหี่ยวหรือไหม้ตามขอบใบ ดอกจะเหี่ยวและร่วงเร็ว ชวนชมต้นที่ยังอ่อนต้องให้น้ำแต่น้อย ถ้าต้นอ่อนได้น้ำมากจะทำให้เน่าได้ง่าย การให้น้ำพอดีจะทำให้ต้นเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นชวนชมต้นใหญ่ควรให้น้ำวันละครั้ง สำหรับช่วงฤดูฝนอาจเว้นการรดน้ำบ้างตามความเหมาะสม น้ำที่ใช้รดควรเป็นน้ำที่สะอาดและไม่ควรรดน้ำให้โดนดอกเพราะจะทำให้กลีบดอกช้ำและร่วงเร็ว
การให้ปุ๋ย ชวนชมเป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยไม่มากนัก การใส่ปุ๋ยมากเกินไปนอกจากจะสิ้นเปลืองแล้วยังทำให้ชวนชมเน่าได้ง่าย ชวนชมต้นเล็กต้องการธาตุอาหารไม่มาก ควรใส่ปุ๋ยที่มีตัวหน้าสูง เช่น 15-5-5 หรือสูตรเสมอ 15-15-15 ในปริมาณน้อยๆ ทุก 2 สัปดาห์ ประมาณ 1-2 เดือน เมื่อต้นโตเต็มที่พร้อมที่จะออกดอกจึงเปลี่ยนเป็น่ปุ๋ยเร่งดอกสูตร 8-24-24 ทุกๆ 2 สัปดาห์ ประมาณ 1-2 เดือนชวนชมจะออกดอก หลังจากนั้นบำรุงต้นโดยให้ปุ๋ยสูตรเสมอเดือนละครั้ง และให้ธาตุอาหารเสริมประมาณ 3 เดือนครั้ง สำหรับชวนชมที่ติดฝักควรเว้นระยะการให้ปุ๋ยให้ห่างขึ้นและลดปริมาณการให้ปุ๋ยให้น้อยลง
การตัดแต่งกิ่ง ธรรมชาติของชวนชมจะมีลักษณะทรงต้นและการบิดตัวที่สวยงามอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีการตัดแต่งบังคับรูปทรงให้เป็นไปตามต้องการ โดยเฉพาะชวนชมที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปหรือต้นที่โตแล้ว มีกิ่งก้านสาขาเก้งก้างไม่เป็นพุ่มสวยงาม การตัดกิ่งควรตัดกิ่งก้านที่แตกออกมาเกะกะไม่เป็นระเบียบ กิ่งที่พาดทับกันไปมา กิ่งที่ตาย กิ่งที่ฉีกหัก กิ่งที่คดไปมา และกิ่งที่เป็นโรคออกบ้าง เพื่อช่วยเปิดให้แสงและอากาศถ่ายเทได้สะดวก ลักษณะทรงพุ่มเป็นระเบียบสวยงาม สำหรับพันธุ์ที่ไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน สูงชะลูด ลำต้นอาจหักเมื่อโดนลมแรง อาจตัดยอดไปขยายพันธุ์ เพื่อให้ส่วนโคนที่เหลือแตกกิ่งออกมาใหม่ การตัดควรใช้มีดที่คมและสะอาดตัดให้ชิดลำต้น ไม่ควรเหลือตอกิ่งไว้ ถ้ารอยตัดมีขนาดโตกว่า 1 ซม. ควรใช้ปูนแดงทาที่รอยตัดเพื่อป้องกันเชื้อรา
การเลี้ยงโขด การปลูกเลี้ยงชวนชมในอดีตส่วนใหญ่ปลูกเลี้ยงเพื่อให้มีดอกไว้ชื่นชมเพียงอย่างเดียว เมื่อมีชวนชมพันธุ์ลูกผสมจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสายพันธุ์ทางฮอลแลนด์ซึ่งมีโขดเป็นจุดเด่นและมีลักษณะสวยงาม จึงทำให้ผู้ปลูกเลี้ยงนิยมเลี้ยงชวนชมให้มีดอกดกสวยงามควบคู่ไปกับการเลี้ยงโขดให้มีโขดใหญ่สวยงาม โขดยิ่งมีขนาดใหญ่ได้สัดส่วนยิ่งจะโดดเด่นสวยงามและมีราคาแพง การทำให้ชวนชมมีโขดใหญ่จะต้องทำให้รากชวนชมสะสมอาหารไว้ให้มากที่สุด เพราะโขดของชวนชมคือส่วนหนึ่งของราก จึงต้องให้โขดเจริญเติบโตใต้ดินตั้งแต่แรกปลูก และเมื่อชวนชมอายุได้ขนาดจะต้องเปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้นเป็นระยะทุก 4-5 เดือน เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้โขดได้เจริญเติบโต ถ้าปลูกเลี้ยงในพื้นที่จำกัดโขดจะมีขนาดเล็ก เมื่อโขดมีขนาดใหญ่และได้รูปร่างตามต้องการแล้วจึงเปลี่ยนเป็นกระถางสำหรับโชว์โขดโดยเฉพาะ ทั้งนี้รวมเวลาจนถึงโขดมีขนาดใหญ่ตามที่ต้องการอาจต้องใช้เวลานับปี สำหรับโขดที่ปลูกโชว์ควรปลูกให้สูงเหนือดินขึ้นมาประมาณ 3 ใน 4 ส่วนของโขด
การทำให้ออกดอกและติดฝัก เนื่องจากชวนชมเป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจึงควรปลูกกลางแจ้งจะทำให้ชวนชมออกดอกตลอดปี ที่สำคัญคือดินปลูกต้องมีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงจะทำให้ชวนชมออกดอกดก ติดฝักดี เมื่อชวมชมถึงระยะที่แข็งแรงสมบูรณ์พร้อมที่จะออกดอก ให้ใช้ปุ๋ยเร่งดอกสูตร 0-25-25 พร้อมทั้งให้โฮโมนทางใบ หลังจากใส่ปุ๋ยประมาณ 1 เดือน ชวนชมจะออกดอก และระยะตั้งแต่ดอกตูมเล็กๆ จนถึงดอกบานใช้เวลาประมาณ 1 เดือน สำหรับในหน้าฝนชวนชมจะมีดอกน้อยและต้องระวังการเกิดโรคเน่า เพราะถ้าชวนชมได้รับน้ำมากจนแฉะจะทำให้เกิดโรคเน่าและตายได้
|
การขยายพันธุ์
การปักชำกิ่ง เป็นวิธีขยายพันธุ์ที่ง่ายและสะดวก ต้นใหม่ที่ได้จะมีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการ การปักชำสามารถทำได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่ดีที่สุดคือช่วงก่อนและหลังฤดูฝน คือช่วงเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายนและช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม เพราะในช่วงฤดูฝน ฝนตกชุกอาจทำให้กิ่งชำเน่าได้ง่าย ส่วนในช่วงฤดูแล้งกิ่งชำอาจจะเจริญเติบโตช้าเพราะอากาศแห้งและร้อนเกินไป การปักชำกิ่งมีวิธีปฏิบัติดังนี้
- เลือกตัดกิ่งที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไปยาวประมาณ 10-20 ซม. ไม่ต้องริดใบออก นอกจากส่วนโคนที่จะเสียบลงในวัสดุปักชำ
- ตัดโคนกิ่งในแนวเฉียงเป็นรูปปากฉลาม เพื่อสะดวกในการแทงลงในวัสดุชำ
- จุ่มโคนกิ่งปักชำลงในน้ำยาเร่งรากเอ็กโซติก 5-10 นาที ทิ้งไว้ให้พอหมาด
- นำไปปักลงในวัสดุชำที่เป็นส่วนผสมของขี้เถ้าแกลบกับทรายในอัตราส่วน 1:1 โดยปักกิ่งชำให้ลึก 2-3 ซม. กดรอบโคนต้นพอแน่น รดน้ำให้ชุ่มหรือรดด้วยน้ำผสมยาป้องกันเชื้อรา
- ทิ้งไว้ในที่แสงแดดรำไร ประมาณ 20-25 วันรากก็จะงอก หลังจากนั้นก็นำไปปลูกเลี้ยงยังที่ต้องการต่อไป
การเสียบยอด คือการนำยอดของชวนชมพันธุ์ดีมาเสียบกับต้นตอชวนชมที่มีความแข็งแรง เป็นการเปลี่ยนยอดของพันธุ์เดิมให้เป็นพันธุ์ใหม่ตามยอดที่นำมาเสียบ โดยยอดที่นำมาเสียบจะไม่กลายพันธุ์ไปจากต้นแม่ วิธีนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างยุ่งยากแต่ได้ผลเร็วและต้นใหม่ที่ได้จะฟื้นตัวและแข็งแรงเร็ว ชวนชมที่ขายเป็นกระถางพันธุ์ต่างๆ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีเสียบยอด
- การเตรียมต้นตอ นิยมใช้ชวนชมพันธุ์ฮอลแลนด์ที่ได้จากการเพาะเมล็ด อายุ 5-7 เดือนขึ้นไปมาเป็นต้นตอหรือใช้พันธุ์พื้นเมืองที่โตเต็มที่ เลือกเอาต้นที่แข็งแรงไม่เป็นโรคและมีขนาดโตใกล้เคียงกับขนาดของกิ่งพันธุ์ เพื่อรอยแผลที่ต่อจะสนิทกันดีและมีการเจริญเติบโตที่สมดุล ตัดขวางต้นตอห่างจากโคน 5-10 ซม. ผ่ากลางกิ่งต้นตอเป็นปากฉลามหรือรูปตัววีลึก 1.5-2 ซม. ส่วนยอดของต้นตอที่ตัดออกสามารถนำไปปักชำต่อไปได้
- การเตรียมกิ่งพันธุ์ ใช้มีดที่คมและสะอาดตัดกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์จากต้นแม่พันธุ์ที่ต้องการนำไปเสียบกับต้นตอ จากนั้นตัดส่วนยอดของกิ่งพันธุ์ออกให้เหลือส่วนโคนยาวประมาณ 3-5 ซม. ให้มีใบติดอยู่ 1-2 ใบ และมีตาติดอยู่ 2-3 ตา เฉือนโคนกิ่งเป็นรูปลิ่มยาว 1.5-2 ซม. กะให้สามารถสวมกับต้นตอที่เตรียมไว้ได้พอดี
- การเสียบยอด นำกิ่งพันธุ์ที่เตรียมไว้มาเสียบลงในรอยผ่าของต้นตอ ให้รอยแผลของกิ่งพันธุ์และต้นตอแนบสนิทกัน ถ้ากิ่งพันธุ์และต้นตอมีขนาดไม่เท่ากันให้เสียบกิ่งพันธุ์ชิดไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ใช้เทปพลาสติกพันรอยต่อให้แน่น คลุมต้นที่เสียบกิ่งเรียบร้อยแล้วด้วยถุงพลาสติกเพื่อรักษาความชุ่มชื้น วางกระถางในที่ไม่ถูกแสงแดดจัด เปิดถุงรดน้ำวันละครั้ง ประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงเปิดถุงออก และหลังจากนั้นอีก 2-4 สัปดาห์จึงค่อยแกะเทปพลาสติกที่พันอยู่ออก รอยต่อจะติดกันสนิท
การตอนกิ่ง จะใช้วิธีการตอนแบบปาดกิ่ง โดยเลือกกิ่งตอนที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป เป็นกิ่งที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 ซม. ความยาวไม่เกิน 1 ฟุต ใช้มีดที่คมและสะอาดปาดเข้าไปในเนื้อไม้เป็นแนวเฉียงขึ้นลึกเกือบถึงกึ่งกลางลำต้น เช็ดยางออกแล้วใช้ไม้จิ้มฟันหรือหลอดกาแฟค้ำกลางรอยปาดเพื่อไม่ให้แผลติดกัน ทิ้งไว้ประมาณ 7 วันเพื่อให้แผลแห้ง จากนั้นหุ้มรอยแผลด้วยดินหรือกาบมะพร้าว ห่อด้วยถุงพลาสติกใช้เชือกมัดหัวท้ายให้แน่น ประมาณ 20-30 วัน กิ่งตอนจะออกรากจึงตัดกิ่งตอนไปปลูกต่อไป
การเพาะเมล็ด ควรใช้เมล็ดใหม่มาเพาะเพราะจะทำให้มีเปอร์เซ็นต์การงอกสูง เลือกเมล็ดที่สมบูรณ์ไม่ลีบ นำไปเพาะในวัสดุเพาะที่เป็นส่วนผสมระหว่างทรายหยาบกับขุยมะพร้าวในอัตราส่วน 1:1 หรือขี้เถ้าแกลบล้วนๆ โดยโรยหรือวางเมล็ดบนวัสดุเพาะให้กระจายเท่าๆ กันแล้วกลบด้วยวัสดุเพาะเบาๆ รดน้ำผสมยาป้องกันเชื้อราพอหมาดๆ วางภาชนะเพาะในที่มีแสงรำไรอย่าให้ถูกแสงแดดโดยตรง รดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง ประมาณ 3-7 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกเป็นต้นอ่อน เมื่อต้นกล้ามีใบเลี้ยงประมาณ 4-5 ใบ จึงเริ่มให้อาหารเสริม ฮอร์โมน และยาป้องกันเชื้อราอ่อนๆ ประมาณสัปดาห์ละครั้ง เมื่อต้นชวนชมมีอายุ 1-2 เดือน จึงแยกไปปลูกในกระถางเดี่ยวต่อไป
|
การผสมพันธุ์
ดอกชวนชมเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน แต่เกสรตัวผู้และตัวเมียมีระยะเวลาการสุกหรือแก่ไม่พร้อมกัน เกสรตัวผู้จะฝ่อเร็วกว่า ดังนั้นการผสมเกสรจึงมักเกิดจากการผสมของเกสรตัวผู้ของดอกอื่น การผสมพันธุ์ชวนชมเพื่อให้ได้พันธุ์ชวนชมพันธุ์ใหม่หรือลูกไม้ใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากต้นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มักเป็นการช่วยผสมเกสรโดยมนุษย์ การผสมเกสรมีหลักสำคัญคือ ต้องคัดเลือกต้นพ่อแม่พันธุ์ที่มีทรงดอกสวย สีสวย ดอกบานทน แข็งแรง ต้นพ่อแม่พันธุ์ที่ดีจะทำให้มีโอกาสมากที่จะได้พันธุ์ลูกผสมที่ดี เวลาที่เหมาะในการผสมเกสรคือช่วงเช้าเวลา 5.00-8.00 น. และช่วงเย็นเวลา 19.00-20.30 น. เลือกดอกพ่อพันธุ์ที่บานแล้ว 2-3 วัน ดึงระยางค์ทั้งห้าเส้นออกมาเบาๆ จะเห็นเกสรตัวผู้เหมือนเม็ดทรายเล็กๆ สีเหลืองอมเขียวอยู่รวมกันเป็นกลุมภายในดอก บีบโคนและคลึงเบาๆ ให้ส่วนโคนของระยางค์ที่หุ้มปิดเกสรตัวผู้เปิดออก ใช้พู่กันขนาดเล็กที่สะอาดป้ายละอองเกสรตัวผู้ให้ติดปลายพู่กันขึ้นมาเบาๆ เลือกดอกแม่พันธุ์ที่บานแล้ว 2-3 วัน ดึงระยางค์ทั้งห้าเส้นออกจากดอกแม่พันธุ์ บีบบริเวณโคนกลีบดอกและคลึงเบาๆ ให้อับที่หุ้มเกสรตัวเมียเปิดออก ถ้ามีละอองเกสรตัวผู้ของดอกแม่พันธุ์ติดอยู่ให้เขี่ยออกก่อน แล้วใช้พู่กันที่มีละอองเกสรตัวผู้ของดอกพ่อพันธุ์ป้ายลงไปที่หลอดเกสรตัวเมียเบาๆ ดอกชวนชมที่ได้รับการผสมแล้วจะติดฝัก 1 ดอกจะได้ 2 ฝักอยู่ติดกันคล้ายเขาควาย เมื่ออายุมากขึ้นฝักจะเหยียดตรง ระยะที่เริ่มติดฝักจนถึงเมล็ดแก่ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ในหนึ่งฝักจะมีเมล็ด 80-150 เมล็ด เมล็ดจะมีขนเป็นปุยที่หัวและท้ายเมล็ด สามารถปลิวตามลมไปงอกในที่ไกลออกไปได้ ดังนั้นเมื่อฝักเริ่มแก่และเริ่มปริจึงควรเก็บเมล็ดไปเพาะก่อนที่เมล็ดจะปลิวไปหมด |
ที่มา พันธุ์ไม้ดอทคอม
Advertisement
เปิดอ่าน 5,985 ครั้ง เปิดอ่าน 28,749 ครั้ง เปิดอ่าน 15,483 ครั้ง เปิดอ่าน 150,304 ครั้ง เปิดอ่าน 10,088 ครั้ง เปิดอ่าน 23,369 ครั้ง เปิดอ่าน 106,797 ครั้ง เปิดอ่าน 11,364 ครั้ง เปิดอ่าน 72,585 ครั้ง เปิดอ่าน 20,168 ครั้ง เปิดอ่าน 13,396 ครั้ง เปิดอ่าน 20,722 ครั้ง เปิดอ่าน 198,618 ครั้ง เปิดอ่าน 29,352 ครั้ง เปิดอ่าน 15,181 ครั้ง เปิดอ่าน 36,204 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 100,466 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 263,015 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 242,494 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 86,024 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 18,011 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 14,684 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 18,178 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 41,570 ครั้ง |
เปิดอ่าน 22,409 ครั้ง |
เปิดอ่าน 52,313 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,232 ครั้ง |
เปิดอ่าน 27,982 ครั้ง |
|
|