ปัดฝุ่น "สถาบันฝึกหัดครู" พัฒนาพลเมืองการศึกษาศตวรรษ 21
เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ต้องยอมรับว่า การศึกษาเป็นหนึ่งในเรื่องที่ท้าทายต่อการคิดค้นแนวการสอนที่เชื่อมโยงกับความเป็นผู้นำ ค่านิยม และสร้างความเป็นพลเมืองให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ และสังคมโลกอนาคต
สถาบันครุศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ หรือ National Institute of Education (NIE) เป็นสถาบันผลิตครูนักวิจัย (Teacher Researcher) มีบทบาทสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ทางการศึกษา โดย NIE จะทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่การกำหนดนโยบายจนถึงการปฏิบัติในโรงเรียน ร่วมกันทำวิจัยเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาการศึกษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพแก่ภาครัฐ ผ่านการจัดสัมมนานานาชาติอย่างต่อเนื่อง
สำหรับงานประชุมนานาชาติที่จัดขึ้นโดย NIE เป็นงานที่รวบรวมครู นักปฏิบัติ นักวิจัย ผู้นำทางการศึกษา และผู้กำหนดนโยบายการศึกษา โดยเปิดโอกาสเพื่อพูดคุยแบ่งปันความรู้ข้อมูลวิจัย พร้อมตัวอย่างการปฏิบัติที่ดีที่สุดจากต่างโรงเรียน ต่างวัฒนธรรม เพื่อมุ่งให้เกิดทิศทางและนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับงานวิจัยและแนวปฏิบัติทางการศึกษา ล่าสุดจัดสัมมนานานาชาติ Redesigning Pedagogy ครั้งที่ 6 เรื่อง "การพัฒนาผู้นำ ค่านิยม และความเป็นพลเมือง ในการจัดการศึกษาศตวรรษที่ 21"
ดังนั้นบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้สื่อสารแหล่งเรียนรู้ทางด้านการศึกษาจึงจัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อเรื่อง "บทเรียนจากสัมมนานานาชาติ การออกแบบการสอนใหม่ของสิงคโปร์ : เพื่อผู้นำ ค่านิยม และความเป็นพลเมืองในการศึกษาศตวรรษที่ 21" โดยมี "ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล" ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนสังคมศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเปิดประสบการณ์จากการเข้าร่วมสัมมนา NIE ครั้งนี้
"ผศ.อรรถพล" ชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของประเทศสิงคโปร์ ในฐานะประเทศชั้นนำเรื่องการจัดการศึกษานานาชาติ ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาครูตลอดจนบทบาทของผู้บริหารที่ต้องเปลี่ยนแปลงและรับกับสถานการณ์ของศตวรรษที่ 21
"ที่น่าสนใจคือเวทีนี้ไม่ได้จำกัดวงแค่นักวิชาการ แต่พบว่ามีครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของสิงคโปร์จากหลากหลายวิชาไม่ว่าจะเป็นพลศึกษา ดนตรี และสาขาวิชาอื่น ๆ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีผู้นำการศึกษาทั้งจากสิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป เอเชีย-แปซิฟิก และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน ส่งผลให้เกิดการคิดและวิเคราะห์ร่วมกันถึงการพัฒนาระบบการศึกษาสู่แนวทางการปฏิบัติระดับสากลอย่างแท้จริง"
"ผศ.อรรถพล"บอกว่าสิงคโปร์กำลังให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงของสังคมที่เรียกว่า Civic Education หรือการสร้างสมดุลของชาติกับพลเมืองโลก เนื่องจากตลอด 20 ปีผ่านมา มีสัดส่วนคนต่างถิ่นจากตะวันตกเข้ามาอาศัยในสิงคโปร์มากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลต่อการเรียนรู้ในวิชาประวัติศาสตร์ที่จะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนในวิชาประวัติศาสตร์ไม่เลยเถิดเป็นกระแสชาตินิยมที่สุดโต่ง
"ขณะเดียวกันต้องเคารพและรู้สึกถึงความรักและภาคภูมิใจของคนในชาติดังนั้นการเชื่อมโยงในสังคมที่หลากหลายวัฒนธรรมจึงจำเป็นต้องสอนเรื่องความหลากหลายแทรกซึมไปในทุกรายวิชาเพราะถือเป็นมิติสำคัญในการเตรียมพลเมืองให้อยู่ในความหลากหลายและเคารพซึ่งกันและกัน"
"คนสิงคโปร์มองว่าการสร้างอัตลักษณ์ให้เกิดขึ้นในชาติจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศถือเป็นเรื่องเปราะบางโดยอาจส่งผลกระทบต่อสังคมตามมา ดังนั้นความหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคมสิงคโปร์ที่มีคนต่างถิ่น ต่างชาติ ต่างภาษามาอยู่รวมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่หลาย ๆ ชาติไม่มี"
ไม่เพียงเท่านั้น สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญต่อเรื่อง Global concern ผ่านการสร้างความตระหนักถึงความเป็นสากลอย่างมีสมรรถนะ โดยหยิบยกการสร้างความเป็นพลเมืองที่ดีของสิงคโปร์ไม่ใช่หน้าที่ของครูวิชาใดวิชาหนึ่ง แต่ครูทุกวิชาสามารถทำงานร่วมกันภายใต้เป้าหมายเดียวกันได้ เพราะหัวใจของการเรียนการสอนไม่ใช่แค่เนื้อหา แต่เป็นความรู้ ค่านิยมหลักที่ครูผู้สอนพึงมีมากกว่า
นอกจากนี้ "ผศ.อรรถพล" ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองสิงคโปร์อย่างแข็งแกร่ง จึงต้องเริ่มที่เยาวชนเป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะเยาวชนคือศูนย์กลางการสร้างค่านิยมที่สำคัญของประเทศ
ดังนั้นสถาบันการศึกษามีหน้าที่สร้างความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เยาวชนเข้าใจถึงสมรรถนะในการเป็นพลเมืองตามบทบาทและหน้าที่ของตนเองบนความคาดหวังอย่างเหมาะสมนี่คือโจทย์ที่นักการศึกษาใช้ขับเคลื่อนพลเมืองของสิงคโปร์ในศตวรรษที่ 21
"เพราะความตั้งใจของ NIE มีองค์ประกอบสำคัญในการทำให้ภาพของนโยบายเกิดขึ้นจริงในห้องเรียน ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าสถาบันฝึกหัดครูสามารถตั้งรับนโยบายและมีส่วนร่วมในการวิจัยพัฒนาความรู้ทางการศึกษาที่ก่อให้เกิดนโยบายที่เหมาะสมต่อการทำงานในโรงเรียนทั้งยังเป็นสะพานเชื่อมจนทำให้เกิดกงล้อแห่งการพัฒนา"
"สิ่งเหล่านี้สะท้อนต่อการออกแบบการเรียนการสอนในประเทศไทยโดยสามารถประยุกต์วิธีการบริหารงานของสิงคโปร์ได้แม้บริบทและรูปแบบการบริหารงานของไทยและสิงคโปร์จะแตกต่างกันแต่แนวทางเรื่องการพัฒนาครูเป็นเรื่องที่น่าหยิบขึ้นมาดำเนินการโดยเฉพาะการผลิตครูระบบปิดเพื่อควบคุมคุณภาพครูให้ได้ ดังนั้นสถาบันฝึกหัดครูจึงควรเข้ามามีบทบาทร่วมกันอย่างเป็นระบบมากขึ้นในการเป็นพี่เลี้ยงให้แก่นิสิต นักศึกษาครู รวมถึงนำความรู้ความสามารถทางวิชาการและงานวิจัยเพราะจะเป็นข้อมูลสนับสนุนการกำหนดแนวทางเชิงนโยบาย และแผนงานวิจัยพัฒนาครูเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป"
จนนำไปสู่การขับเคลื่อนคุณภาพของเยาวชนและประสิทธิภาพของพลเมืองไทยในอนาคต
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ