เขาห้ามผมทำ แต่ไม่ห้ามผมคิด
ตอนที่ 4 : การศึกษาต้องมองยาวๆ แต่สำเร็จสั้นๆ
..........................................
ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การปฏิรูปการศึกษาในรอบใหม่นี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทุกภาคส่วนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวผู้เรียน ครูผู้บริหาร การบริหารจัดการ หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน สื่อ/แหล่งเรียนรู้ การวัดและประเมินผล ทรัพยากรเพื่อการศึกษา เป็นโอกาสทองสำหรับนักการศึกษาแล้วครับที่จะต้องดำเนินการเพื่อสนองความต้องการของสังคมดังกล่าว ที่สำคัญท่านนายกรัฐมนตรีก็ไฟเขียวตลอดทาง จะทำอะไรขอให้บอก
สิ่งที่พึงกระทำในขณะนี้ คงต้องแยกเป็นระดับนโยบายกับระดับปฏิบัติการ นักการศึกษาระดับนโยบายต้องมองภาพความสำเร็จทางการศึกษาในระยะ10-20ปีข้างหน้าว่าต้องการความสำเร็จทางการศึกษาด้านต่างๆอย่างไรบ้าง หากจะรอดูความสำเร็จอีก10-20ปี ก็คงไม่ไหว ดังนั้น ต้องกำหนดเป้าหมายความสำเร็จระยะสั้นตลอดแนว 3 เดือน 6 เดือน 1ปี 3ปี 5ปี...20ปี จะเกิดอะไรขึ้น ตัวชี้วัดต้องชัดเจน การพัฒนาการศึกษาสู่ความสำเร็จนั้นคงต้องมีความเป็นเอกภาพ บูรณาการทั้งแนวราบและแนวดิ่ง แนวคิดการทำงานลักษณะนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น มีมาแล้วแต่ไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะไม่มีภูมิคุ้มกันที่มากพอที่จะทำให้ภาพที่คาดหวังไว้ถูกสร้างจนสำเร็จ ประการที่สอง ไม่มีเจ้าภาพผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ประการที่สาม ระบบการติดตามและประเมินผลอ่อนแอ ประการที่สี่ ระบบแรงจูงใจไม่สัมพันธ์กับผลการปฏิบัติงาน ประการที่ห้า การสื่อสารเรื่องราวทางการศึกษาให้สาธารณชนรับทราบนั้น เรายังทำได้ไม่ดีพอ
ปัจจุบันนี้เราสามารถเดินต่อได้เลย โดยไม่ต้องเริ่มต้นที่ศูนย์ เรามีแผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต เรามี Road Map ปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน และเรามีข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาอีกหลายเรื่อง เราอาจต้องรีบเร่งประมวลทุกเรื่อง ร้อยเรียง จัดลำดับตามความจำเป็นและเร่งด่วน สร้างความสำเร็จให้เห็นตลอดแนว บางเรื่องทำได้เลย บางเรื่องต้องแก้กฎหมายต้องใช้เวลา 3 ปีจึงจะสำเร็จ บางเรื่องที่เข้าใจผิด เช่น หลักสูตรมีเนื้อหามากเกินไป ซึ่งหลักสูตรปัจจุบันไม่ใช่หลักสูตรที่อิงเนื้อหา (Content - Based Curriculum) แต่เป็นหลักสูตรที่อิงพฤติกรรมที่ประมวลเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ (Standard - Based Curriculum) เนื้อหาจะไปอยู่ตรงการนำหลักสูตรไปใช้ หรือที่มักชอบพูดกันว่า เพราะการสอนที่โรงเรียนทำได้ไม่ดี เด็กจึงต้องไปเรียนที่โรงเรียนกวดวิชา ซึ่งหลายคนที่พูดแบบนี้ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าโรงเรียนกวดวิชาเขาสอนกันอย่างไร แล้วทำไมโรงเรียนของเราจึงไม่สอนเหมือนโรงเรียนกวดวิชา เป็นต้น
เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ นักการศึกษาจะต้องมีจุดยืนที่สามารถอธิบายให้สังคมเข้าใจ หากเราไม่มีจุดยืน ไม่อิงหลักการ ไม่อิงทฤษฎีที่กล่าวไว้ ใครกระแอมเรื่องใดออกมาก็ชุลมุนวุ่นวายกันไปทั้งประเทศ แล้วก็มามัวแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆหนึ่งเท่านั้น
ที่มา เฟซบุ๊ค ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก วันที่ 20 ก.ค.2558