คณะรัฐมนตรีอนุมัติขยายเวลาลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) จาก 10% เหลือ 7% ออกไปอีก 1 ปี ชี้ แม้จะสร้างรายได้มากขึ้น 2 แสนล้านบาท แต่เศรษฐกิจเสี่ยงชะลอตัว
วันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.ต. สรรเสริญ เเก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงกรณีมาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม จากเดิม 10% เหลือ 7% ออกไปอีก 1 ปี ก่อนจะครบวาระในสิ้นเดือนกันยายนนี้
พล.ต. สรรเสริญ ระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม และอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
โดยทางกระทรวงการคลังมีข้อเสนอดังต่อไปนี้
1. ตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่กำหนดให้มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)ในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บในอัตราร้อยละ 9 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 10 (รวมภาษีท้องถิ่น) จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
2. จากกรณีที่เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวอย่างต่อเนื่องนั้น มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม การปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้รัฐมีรายได้เพื่อนำไปใช้ในการลงทุน ขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้น แต่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการบริโภคในประเทศที่อยู่ในภาวะหดตัว โดยระดับราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ จะมีการปรับราคาสูงขึ้น ดังนั้น จึงเห็นควรมีมาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
3. มติคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2558 นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้การเสนอร่างกฎหมายตามนโยบายการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้กระทรวงการคลังพิจารณาและวิเคราะห์ผลกระทบในภาพรวมจากการปรับอัตราภาษีดังกล่าวเสนอคณะ รัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการปรับลดอัตราภาษีที่มีผล กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ
อย่างไรก็ดีหากมีการกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตราร้อยละ 10 (รวมภาษีท้องถิ่น) ถึงแม้จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 211,900 ล้านบาท แต่จะส่งผลต่อระดับราคาสินค้าและค่าบริการเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภค การผลิต การนำเข้า และการลงทุนภาคเอกชนลดลงทำให้ระบบเศรษฐกิจชะลอตัว
ทั้งนี้การขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ 10 (รวมภาษีท้องถิ่น) ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) ต่อไปเป็นระยะเวลา 1 ปี จะไม่มีผลกระทบต่อการประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ เนื่องจากในการจัดทำงบประมาณได้มีการคำนวณประมาณการรายได้ โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานการคำนวณของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) และคาดว่าในระยะยาวจะทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ประชาชาติธุรกิจ