ใครเป็นหนี้???..มีทางออก
คงไม่มีใครอยากเป็นหนี้ เพราะ...การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐฉันใด การไม่มีหนี้ก็เป็นลาภอันประเสริฐฉันนั้น จึงไม่ควรใช้เงินเกินตัว เริ่มปลูกฝังกันตั้งแต่ลูกหลานวัยเด็ก เติบโตขึ้นจะได้ใช้เงินอย่างรู้คุณค่า
สังคมไทยเป็นแบบ "รวยกระจุกและจนกระจาย"มีรูปแบบคล้ายสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้านบนปลายแหลม คือจำนวนคนรวยที่มีน้อย ส่วนฐานล่างที่กว้างที่สุด คือจำนวนคนจนที่กระจาย จุดกึ่งกลางระหว่างด้านบนกับฐานล่างคือ "ชนชั้นกลาง" ขณะที่ความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวยก็สูงลิบลิ่ว
ส่งผลให้คนไทยกว่า 90% มีปัญหาหนี้สิน โดยหนี้ที่เราสร้างเองเรียกว่า "หนี้ครัวเรือน" สูงขึ้นทุกปี สวนทางกับการออมที่ลดลง นักวิชาการคาดการณ์ว่า ภายใน 2-3 ปีนี้ หนี้ครัวเรือนของไทยจะพุ่งเป็น 89-90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product ) หรือ GDP : จีดีพี ซึ่งก็คือมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตภายในประเทศ และอีกไม่กี่ปีหนี้ครัวเรือนจะแตะระดับ 100% ของจีดีพี
นั่นหมายถึงว่าประเทศไทยจะมีหนี้ครัวเรือนเท่ากับมูลค่าจีดีพี ยังไม่นับรวมหนี้สาธารณะที่รัฐบาลเป็นผู้ก่อขึ้นปัจจุบันอยู่ที่ 5,720,425.58 ล้านบาท หรือ 46.83% ของจีดีพี
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินคือ "รายได้ไม่พอกับรายจ่าย" ชักหน้าไม่ถึงหลังกับภาระที่ต้องรับผิดชอบจิปาถะทั้งบุคคลในครอบครัวที่ต้องดูแล ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าครองชีพที่พุ่งกระฉูด ทำให้ต้องหยิบยืมคนใกล้ชิด ญาติสนิทมิตรสหาย รวมไปถึงสถาบันการเงินในระบบ เป็นหนี้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดเพราะนำเงินอนาคตมาใช้ก่อน แม้แต่การนำทรัพย์สินมีค่าเข้าโรงจำนำก็ถือว่าเป็นหนี้
ขณะที่หลายคนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ ต้องหันไปพึ่งมาเฟียเงินกู้หน้าเลือด โขกดอกเบี้ยรายวันเกินกว่า 15% ต่อปีหรือ 1.25 % ต่อเดือนที่กฎหมายกำหนด พอไม่มีปัญญาจ่าย ก็ถูกขู่ทำร้ายเอาชีวิตจนไม่มีความสุข ส่วนหนี้ในระบบพอช็อตหมุนไม่ทันค้างชำระ จะถูกตามทวง สร้างความรำคาญ แถมด้วยความอับอาย ลูกเมียพลอยเดือดร้อนไปด้วย ชีวิตมีแต่ความเศร้าหมอง เมื่อเครียดหนัก สุดท้ายคิดสั้นแขวนคอตายหรือฆ่าตัวตาย หนีหนี้ประชดชีวิต บางรายถึงขั้นให้ลูกเมียซดยาพิษหรือยิงให้ตายตามไปด้วยกัน จะได้ไม่ลำบากในการผจญชีวิต
คงไม่มีใครอยากเป็นหนี้ เพราะ...การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐฉันใด การไม่มีหนี้ก็เป็นลาภอันประเสริฐฉันนั้น จึงไม่ควรใช้เงินเกินตัว เริ่มปลูกฝังกันตั้งแต่ลูกหลานวัยเด็ก เติบโตขึ้นจะได้ใช้เงินอย่างรู้คุณค่า รู้จักประหยัดและเก็บหอมรอมริบ หากต้องสร้างหนี้เพราะถูกความจำเป็นบังคับ ก็ต้องมีวินัยในการใช้เงินและการชำระคืนเพื่อรักษาเครดิต (ความน่าเชื่อถือ) เมื่อบริหารจัดการหนี้ได้อนาคตจะเป็นไทแก่ตัว
หากเราขาดวินัยการชำระหนี้ จะด้วยเหตุผลความจำเป็นใดๆ ก็ตาม หรือจากนิสัยแย่ๆ ของตัวเอง ก็ต้องตั้งสติกันใหม่ ทำจิตใจให้เข็มแข้ง อย่าย่อท้อกับหนี้ที่เกิดขึ้น ขอเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างยืดการชำระให้นานขึ้น แบ่งจ่ายรายเดือนตามกำลัง เพื่อรักษาเครดิต ท้ายที่สุดหากไม่สามารถชำระได้ ก็ต้องยอมเสียเครดิตถูกขึ้นบัญชีดำจะมีผลต่อการขอสินเชื่อในอนาคต ยอมให้เจ้าหนี้ส่งฟ้องศาล เจรจาประนีประนอมกันในชั้นศาล จะได้ลดมูลหนี้ อาจเป็นส่วนของการลดดอกเบี้ย หรือเงินต้น
บางสถาบันการเงินก็ไม่ลดวงเงินต้นหนี้ให้ ลดดอกเบี้ยบางส่วน แต่ผ่อนชำระเป็นงวดๆ แม้ต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่ยืดเวลานานขึ้น หากสุดท้ายผิดนัดชำระอีก เจ้าหนี้สามารถฟ้องศาลขออายัดเงินเดือนหรือทรัพย์สิน ก็ต้องอดทนยอมรับสภาพ โดยเจรจาเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีขอลดวงเงินอายัดลง อีกไม่นานเกินรอเชื่อว่าความตั้งใจจริงจะช่วยให้ปลดหนี้ได้สำเร็จจนกลับมายิ้มได้อีกครั้ง
ล่าสุดพ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 จะมีผลบังคับใช้วันที่ 2 ก.ย. นี้ มีสาระสำคัญอาทิ ห้ามผู้ติดตามหนี้กระทำการละเมิดและคุกคามในการติดตามทวงหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุมคาม ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือทำให้เสียชื่อเสียง ห้ามติดตามทวงหนี้เกินสมควรแก่เหตุ ห้ามไม่ให้ติดตามทวงหนี้ในลักษณะไม่เป็นธรรม เช่นเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และทวงหนี้ได้วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00–20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการติดต่อได้ในเวลา 08.00-18.00 น. เว้นแต่ได้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขอให้กำลังใจลูกหนี้ทุกคน อย่าลืมเตือนสติไว้เสมอว่า “เป็นหนี้มีทางออก” อย่าคิดสั้น สู้ๆๆ !!!
............................................................
คอลัมน์ : มุมคนเมือง โดย “เทียนหยด
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 14 ก.ค.2558