ประธานสภาคณาจารย์ มมส.ร้อง นายกฯ รมว.ศธ., สกอ., สนช. ยกเครื่อง ถอดขั้วอำนาจเก่า ฝ่ายบริหารชุดอธิการฯ เดิม และสภามหา'ลัยด้วย หวั่นถ้าปล่อยให้รับผิดชอบต่ออาจสร้างความเสียหายแก่มหา'ลัยได้ ด้าน "ตวง" เผย กม.มหาวิทยาลัยดั้งเดิมมีช่องโหว่เตรียมยกร่าง พ.ร.บ.เพิ่มอำนาจ กกอ.เข้าไปจัดการวิรัติ ปานศิลา
นายวิรัติ ปานศิลา ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) กล่าวถึง จากกรณีที่มีคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตาม ม.44 ระงับการปฏิบัติราชการของนายศุภชัย สมัปปิโต รักษาการอธิการบดี มมส.เป็นการชั่วคราวนั้น คำสั่งดังกล่าวส่งผลแค่นายศุภชัย รักษาการอธิการบดีเท่านั้น แต่ฝ่ายบริหารที่ต่างๆ ที่เป็นทีมงานเดียวกับนายศุภชัยยังคงทำหน้าที่บริหารเหมือนเดิม รวมถึงสภา มมส.ด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นตนจึงได้เดินทางยืนหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ในส่วนของการบริหารงานของฝ่ายบริหารและสภา มมส. เพราะหากยังปล่อยให้สภา มมส.ชุดเดิมทำหน้าที่ต่อไป เชื่อว่าสภาฯ ก็จะต้องแต่งตั้งรักษาการอธิการบดีจากรองอธิการบดี ซึ่งถือว่าเป็นคนของรักษาการอธิการบดีคนเก่า ทำให้ไม่สามารถตัดขั้วอำนาจเก่าออกไปได้อย่างแท้จริง และร้องขอให้เลขาฯ กกอ.เข้ามาทำหน้าที่รักษาการอธิการบดีแทน
ประธานสภาคณาจารย์ มมส.กล่าวต่อว่า สภา มมส.แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการสรรหา โดยคณะกรรมการสรรหาและเป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 24 เสียง และส่วนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาคม มมส. ที่มีเพียง 9 เสียง ทำให้ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ เพราะเสียงประชาคมมีน้อย ไม่เพียงพอต่อการออกเสียงคัดค้าน และในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ทางนายกสภาฯ ก็จะต้ดสินโดยใช้วิธีการโหวต ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายที่เสียงน้อยต้องแพ้อยู่แล้ว ดังนั้นทางแก้ปัญหาจะต้องยุบสภา มมส.และแก้โครงสร้างสภาฯ ใหม่
นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมจะมีการประชุมสภา มมส.อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการแต่งตั้งรองอธิการบดีขึ้นเป็นรักษาการอธิการบดี และเมื่อเสียงจากฝ่ายประชาคม มมส.ต้องการคัดค้านก็คงไม่เพียงพอ เพราะมีแค่ 9 เสียงเท่านั้น ตนเชื่อว่าหากปล่อยให้กลุ่มผู้บริหารชุดเดิมบริหาร มมส. เรื่องการทุจริตต่างๆ ก็จะไม่คืบหน้า และการบริหารงานต่างๆ ก็จะอยู่ในรูปแบบลักษณะเดิมต่อไปเรื่อยๆ และคงสร้างความเสียหายให้กับ มมส.อย่างมาก
ด้านนายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและการกีฬา สนช. กล่าวว่า ทาง สนช.ได้เห็นถึงประเด็นปัญหานี้ เพราะว่าหลายมหาวิทยาลัยที่ประสบปัญหาดังกล่าว โดยหลักแล้วต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เฉพาะมหาวิทยาลัยที่มี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่สภามหาวิทยาลัยจะมีอำนาจสูงสุด แต่ไม่ได้ใส่เนื้อหาในกรณีว่า ถ้ามหาวิทยาลัยมีปัญหา ใครจะเป็นผู้แก้ไข ทาง กมธ.การศึกษาและการกีฬา จึงคิดแนวทางแก้ไขโดยการยกร่างกฎหมายเพิ่มบทบาทให้คณะกรรมการการอุดมศึกษามีอำนาจเข้ามาตัดสินปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยได้ แต่ยังติดอยู่ในเรื่องของคณะกรรมการว่าจะมาจากไหน และใครบ้าง ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการยกร่างเรียบร้อยแล้ว รอ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศธ. พิจารณา และจากการสอบถามมหาวิทยาลัยต่างๆ เบื้องต้น ก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้.
ที่มา: www.thaipost.net