สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดทำยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับคนไทยทุกคน เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ เพราะทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าของชาติ ที่เกิดจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง จะทำให้บรรลุเป้าหมายคุณภาพ คือ ผู้เรียนมีสมรรถนะด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 และขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างคนในชาติให้มีค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ ครอบคลุมและสอดคล้องกับลักษณะอันพึงประสงค์ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม ให้เกิดขึ้นกับเยาวชนไทยให้เป็นผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล
การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงเกิดแนวคิด "จุดแตกหักในห้องเรียน" เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านที่ ๑ การปฏิรูปการเรียนการสอน เช่น ปฏิรูปหลักสูตร ตำรา หนังสือเรียน โดยการปรับหลักสูตรปฐมวัย พ.ศ.๒๕๔๖ ให้เหมาะสมกับผู้เรียน ปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๑ ส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรการศึกษาทางเลือก การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และให้ครูจัดกระบวนการเรียนรู้ได้เต็มเวลาเต็มหลักสูตร การปฏิรูปสื่อเทคโนโลยี นวัตกรรม และแหล่งเรียนรู้เพื่อการศึกษา ส่งเสริมการผลิต จัดหา ใช้สื่อนวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการเรียนรู้ การปฏิรูปการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ส่งเสริมการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง จัดทำคลังข้อสอบกลางที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และนำผลการทดสอบไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียน การปฏิรูปการนิเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โดยพัฒนาระบบการนิเทศกำกับติดตามเป็นแบบแอพพลิเคชั่น ศึกษานิเทศก์ (Supervision Application) ปรับบทบาทศึกษานิเทศก์ให้เป็นผู้นิเทศอย่างแท้จริง ยุทธศาสตร์ด้านที่ 2 ปฏิรูปการพัฒนาวิชาชีพ เช่น การปฏิรูประบบการผลิตและการสรรหา ปรับระบบการผลิตครูทั้งปริมาณและคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานศึกษา สรรหาให้ได้คนเก่งคนดีมาเป็นครู การปฏิรูประบบการพัฒนาครู เน้นการทำแผนพัฒนาครู กำหนดและประเมินสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับครู และพัฒนาครูโดยระบบ Action Learning ในสถานที่ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งวัดและประเมินผลการพัฒนาครู การปฏิรูประบบค่าตอบแทนการปฏิบัติงาน และเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ ซึ่งพัฒนาระบบค่าตอบแทนที่จูงใจให้คนเก่ง คนดี มาเป็นครู พัฒนาระบบการยกย่องเชิดชูเกียรติครูให้สมกับวิชาชีพชั้นสูง ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูให้สูงขึ้น การปฏิรูประบบความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ปรับระบบการประเมินความก้าวหน้าทางวิชาชีพให้เชื่อมโยงกับสมรรถนะการสอนและผลงานการสอนของครู ด้านที่ 3 ปฏิรูประบบการบริหารจัดการ เช่น การปฏิรูปวัฒนธรรมใหม่ของสถานศึกษา เน้นการส่งเสริมให้สถานศึกษาทุกแห่งเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community = PLC) สร้างระบบความรับผิดชอบระหว่างครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ปกครอง สนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการศึกษา สร้างภาวะผู้นำให้ผู้บริหารการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษา ครู และผู้บริหารสถานศึกษา การปฏิรูประบบการวางแผน โดยเริ่มจากการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง และกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน การปฏิรูประบบงบประมาณ เน้นกระจายอำนาจการบริหารงบประมาณไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา สำรวจความเหลื่อมล้ำในการอุดหนุนเงินรายบุคคลกับโรงเรียน สพฐ. ขนาดต่างๆ และความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลในระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การปฏิรูประบบการกำกับ ติดตาม และประเมินผล เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับติดตามและประเมินผลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การปฏิรูปโอกาสและคุณภาพการศึกษา เร่งพัฒนาคุณภาพ เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม และเข้าถึงบริการการศึกษาที่มีคุณภาพ
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ได้ทำแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระยะเร่งด่วนตามนโยบายเร่งด่วนของคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา (ปีการศึกษา 2558) เด็กจบ ป.1 ต้องอ่านออกเขียนได้ และต้องมีการประเมินผลที่เป็น รูปธรรม การจัดการศึกษา ขั้นพื้นฐานเสริมทักษะอาชีพเด็กชั้น ม.1 - ม.6 ต้องเลือกเรียนวิชาเสริมเป็นสาขาวิชาชีพเพื่อการวางแผนอาชีพในอนาคต อีกทั้งยังเน้นด้านการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) การจัดการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) เพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนการสอนให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลิตคุณครูที่มีความเข้มข้น อาทิ คุรุทายาท ที่มีความสามารถตอบรับการสอนของเด็กได้อย่างแท้จริง
ศูนย์สารนิเทศการศึกษาขั้นพื้นฐานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ