นักวิชาการชี้คนมาสอบก.พ.ไม่ใช่หัวกะทิ
นักวิชาการเผยข้อสอบ ก.พ.ต้องยาก มีมาตรฐานการวัดสูง เพราะวัดคนเข้าทำงาน ชี้มีคนสอบผ่านน้อยเพราะคนเก่งไม่มาสอบ และมีการสอบภาษาอังกฤษที่เป็นจุดอ่อนของเด็กไทย จี้สถาบันการศึกษาจริงจังการสอนภาษา แนะระบบแนะแนวต้องกระตุ้นเด็กให้เห็นข้อดีของราชการ เพราะคนรุ่นใหม่ไม่สนใจงานราชการ เหตุเงินเดือนน้อยและไม่ท้าทาย
วันนี้(10 ก.ค.) ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลการสอบวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) เพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในส่วนราชการต่าง ๆ ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งมีผู้ผ่านการสอบน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้าสอบว่า ข้อสอบก.พ.เป็นข้อสอบแข่งขันที่ใช้วัดความรู้ความสามารถของคนที่จะเข้ารับราชการ จึงเป็นข้อสอบที่ยากและมีมาตรฐานในการวัดที่สูง อีกทั้งการสอบ ก.พ. ยังมีข้อสอบภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ทำไม่ได้ เพราะเด็กไทยยังอ่อนภาษาอังกฤษมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษยังไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่จำเป็น และกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ก็เน้นให้สถาบันการศึกษาจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เด็กมากขึ้น แต่ผลสัมฤทธิ์ก็ยังออกมาไม่ดีพอ เพราะการเรียนการสอนไม่ได้จริงจัง
"คนที่มาสอบ ก.พ. ไม่ใช่เด็กเก่ง หรือหัวกะทิ จึงมีส่วนทำให้คนผ่าน ก.พ.น้อย ทุกวันนี้คนที่มารับราชการส่วนหนึ่งเพราะไม่มีทางไป และคนรุ่นใหม่ก็ปฎิเสธระบบราชการ เพราะเห็นว่าเงินเดือนน้อย และการทำงานไม่ท้าทายเหมือนภาคเอกชนที่เงินเดือนสูง ท้าทายกว่า และมองแค่ปัจจุบันที่ต้องทำงานให้ได้เงินเยอะไว้ก่อน อย่างไรก็ตามผมอยากให้คนเก่ง ๆเข้ารับราชการมากขึ้น โดยระบบแนะแนวของโรงเรียนจะต้องช่วยกันให้คำแนะนำแก่เด็กๆว่าจบมาแล้วน่าจะมาทำงานในระบบราชการ เพราะระบบราชการมีข้อดี มีความมั่นคงให้ชีวิต เมื่อแก่แล้วได้บำนาญ และที่สำคัญจะได้มาช่วยพัฒนาประเทศด้วย " ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 ก.ค.2558
ผลสอบก.พ.ลงสนาม2แสนผ่านไม่ถึงหมื่นคน