ผู้นำซูเปอร์บอร์ดการศึกษา?
กมลทิพย์ ใบเงิน
ว่ากันว่า ในการประชุมคณะกรรมการการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ ซูเปอร์บอร์ดการศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ พ.ศ. แต่ยังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากกรรมการในบอร์ดซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ทักท้วงว่า ทาง สปช.ก็อยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเช่นกัน แต่มีบางประเด็นที่มีความแตกต่างกัน ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรจะปรับแก้ไขให้เป็นในแนวทางเดียวกัน จึงได้มอบคณะอนุกรรมการกฎหมาย ของคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปของ ศธ. กลับไปปรับแก้ไข
"ประเด็นที่มีความเห็นขัดแย้ง อาทิ ความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง ซึ่งร่างของกระทรวงศึกษาธิการให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธาน มีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ ขณะที่ร่างของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สปช. มีความเห็นว่าควรให้คณะกรรมการชุดนี้ต้องปลอดจากการเมือง โดยให้คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานและรองประธานแทน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ ที่ประชุมเห็นว่า หากไม่มีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายอาจจะไม่เชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้น ให้ไปหารือร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อยุติตรงกัน และนำกลับมาให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบก่อน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป" พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าว
เหนืออื่นใด ที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดการศึกษา ได้เห็นชอบในหลักการ การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นกรอบในการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้สถานศึกษามีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการตนเอง ตามแนวทางการบริหารจัดการที่ใช้ โรงเรียนเป็นฐาน ว่ากันว่า การบริหารจัดการที่ใช้ โรงเรียนเป็นฐาน นั้น หลักการสำคัญคือ รัฐต้องการส่งเสริมให้มีการแข่งขันระหว่างสถานศึกษาทุกประเภท โดยมีการจัดหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ตามศักยภาพของบุคคล ทั้งยังต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการระดมทุนและสนองทุนเพื่อการศึกษา ให้มีบริการการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพเพียงพอต่อผู้รับบริการ และยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา
ดูเหมือนว่าที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดการศึกษา ได้เสนอความเห็นหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ การให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลในกำกับ ที่จะมีอิสระในการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องการเงินและบุคลากร ส่วนแนวทาง การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา นั้น ที่ประชุมมอบให้ คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา นำความเห็นจากที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดการศึกษาไปพิจารณากำหนดเนวทางเสนอที่ประชุมในครั้งต่อไป นอกจากนี้ยังเห็นชอบแต่งตั้ง'คณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ' โดยมี ดร.มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ณ วันนี้ เหลือเวลาไม่ถึงเดือนในการยกร่าง พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ ต้องเสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2558 เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญต้องเสร็จก่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2558 ตามโรดแมพรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่นหมายถึงกมธ.สปช. แต่ละด้านต้องเร่งมือกันทำงานเพื่อหาข้อสรุปนำเสนอรัฐบาลให้ทันตามเวลาที่กำหนด ทว่า ข้อโต้แย้งของ คณะกรรมการการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ หรือซูเปอร์บอร์ดการศึกษา ชุดชั่วคราว กับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ยังมีความเห็นต่าง กรณีที่มาของประธานซูเปอร์บอร์ดการศึกษา ที่ฝากฝั่งกระทรวงศึกษาธิการเสนอให้ 'นายกรัฐมนตรี' เป็นประธานโดยตำแหน่ง และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานโดยตำแหน่งเช่นกันนั้น ส่วน กมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯ สปช. เสนอเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้บอร์ดการศึกษา 'ปลอดการเมือง'
มองคนละมุมแต่เรื่องเดียวกัน โจทย์ใหญ่ที่ 'ดร.มีชัย ฤชุพันธุ์' ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต้องถอดตัวเองออกมาจากกรอบอำนาจแล้วใช้จิตบริสุทธิ์คำนึงถึงประโยชน์ที่จะตกถึงเด็กและเยาวชนไทย อยู่เหนือผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองและข้าราชการนะ ขอบอก!!
ที่มา: หนังสือพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 ก.ค. 2558