รมว.ศธ.แนะแก้ปัญหาหนี้ครู ต้องไม่ให้ครูกู้เงินง่าย สั่ง สกสค.ไปศึกษาลดวงเงินกู้ของครู ชี้ครูควรทำบัญชีครัวเรือน สร้างวินัยด้านการเงิน ด้านปลัด ศธ.มอบ ก.ค.ศ.ทำหนังสือแจ้งเขตพื้นที่ทั่วประเทศรับครูเข้าโครงการพักชำระหนี้ ลงทะเบียนภายใน 31 ก.ค.
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีปัญหาหนี้ครูที่ขณะนี้ทางธนาคารออมสินได้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาออกมาแล้ว ว่า เรื่องปัญหาหนี้สินครู นอกจากจะช่วยครูในเรื่องจ่ายหนี้แล้ว ยังคงต้องให้ความรู้เกี่ยวกับวินัยด้านการเงิน อาทิ การทำบัญชีครัวเรือนแก่ผู้ที่เข้าโครงการดังกล่าวด้วย เนื่องจากประเด็นปัญหาของเรื่องหนี้ครูไม่ได้เกิดจากการประกอบอาชีพครู แต่เกิดการครูมีโอกาสในการกู้ยืมได้ง่ายและเป็นเงินจำนวนมาก อาทิ การกู้เงินจากกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เป็นต้น ซึ่งกู้ได้วงเงินที่สูงถึง 3 ล้านบาท และเมื่อกู้ได้ง่าย ครูก็เลือกที่จะกู้เพื่อลงทุนหรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นครู
"ผมว่าปัญหานี้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือการควบคุมไม่ให้มีการกู้ที่ง่ายเกินไป ต้องดูในส่วนของขีดความสามารถในการชำระหนี้ก่อนจะปล่อยกู้ด้วย เพื่อป้องกันการกู้ซับซ้อนจนเป็นดินพอกหางหมู ดังนั้นจึงมีการหารือกันในคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ลดวงเงินการกู้เงินไม่สูงเกินไป และไปดูในรายละเอียดถึงโครงการต่างๆ ในลักษณะนี้ ว่าจะมีการปรับอย่างไรได้หรือไม่ แต่หากมีผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ ก็มีแหล่งกู้อีกหลายแห่งที่รองรับ แต่ทุกแหล่งที่ปล่อยกู้ต้องมีการควบคุมการปล่อยเงินกู้ ดูประวัติผู้กู้ว่ามีการกู้มาก่อนหรือไม่ เมื่อกู้แล้ว เงินเดือนที่เหลือใช้ต่อเดือนควรจะมีประมาณ 30% ของเงินเดือน ไม่ปล่อยให้กู้จนไม่พอใช้ในชีวิตประจำวัน" รมว.ศธ.กล่าว
ด้าน นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัดฯ ศธ.) กล่าวว่า สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีข้อสรุปว่า จะต้องแบ่งลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มลูกหนี้วิกฤติรุนแรง คือลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการถูกฟ้อง ถูกดำเนินคดีหรือถูกบังคับคดี ขาดความสามารถในการชำระหนี้ จะให้ชะลอการฟ้องดำเนินคดี หรือบังคับคดีไม่เกิน 3 ปี แต่ทั้งนี้ต้องมีระยะเวลาฟ้องคดีเหลือไม่น้อยกว่า 2 ปี และให้พักชำระดอกเบี้ยไม่เกิน 3 ปี แต่ให้ชำระเงินต้นเมื่อครบ 3 ปี ให้นำดอกเบี้ยที่พักไว้ เฉลี่ยจ่ายคืน รวมกับเงินงวดต่อๆ ไป โดยกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด เพราะในช่วงที่ชำระแต่เงินต้นก็จะทำให้ดอกเบี้ยลดลงด้วย กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ใกล้วิกฤติ คือลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 12 งวดติดต่อกัน นับถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2558 โดยให้พักชำระดอกเบี้ยไม่เกินครึ่งหนึ่ง เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี แต่ให้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยส่วนที่เหลือ เมื่อครบ 2 ปีให้นำดอกเบี้ยที่พักไว้เฉลี่ยจ่ายคืนรวมกับเงินงวดต่อไป กลุ่มที่ 3 ลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 12 งวดติดต่อกันนับถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2558 ให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการของธนาคาร และกลุ่มสุดท้ายลูกหนี้ปกติ คือลูกหนี้ที่ยังไม่ผิดนัดชำระ ให้พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี แต่ให้ชำระดอกเบี้ย โดยได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ทำหนังสือแจ้งเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ
นพ.กำจรกล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนในการเข้าร่วมมาตรการระยะแรกคือ ลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงข้าราชการบำนาญสังกัด ศธ. จะต้องไปลงทะเบียนที่ธนาคารออมสิน และแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดให้รับรอง ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 เพื่อรวบรวมเป็นบัญชีรายชื่อ โดยมีข้อแม้ว่าลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่ม และหากมีพฤติกรรมผิดนัดชำระอีกจะไม่ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมโครงการในระยะต่อไป ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่ามีครูที่อยู่ในกลุ่มลูกหนี้วิกฤติรุนแรงซึ่งได้ไปร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ประมาณ 1,700 คน ส่วนกลุ่มที่ 2 คือลูกใกล้วิกฤติ มีจำนวนหลายหมื่นคน ส่วนกลุ่มอื่นยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ส่วนมูลค่าหนี้ทั้งหมดอยู่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 8 กรกฎาคม 2558