กลายเป็นข่าวใหญ่ของสังคมออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำเอาเด็กจบใหม่ที่กำลังรอยื่นใบสมัครงานต้องเกาหัวแกรกๆ กันเป็นแถว ด้วยเรื่องราวสร้างความรันทดท้อที่มีต่อความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย หลังจากมีการแชร์ภาพประกาศของธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดรับสมัครงานในตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินฝึกหัด โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครว่าจะต้องเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง 14 สถาบันที่ระบุเท่านั้น ทำเอาถูกวิจารณ์กันขรมถึงการเลือกปฏิบัติ
จนสุดท้ายธนาคารไทยพาณิชย์ต้องรีบออกแถลงการณ์ขออภัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่าเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด และทางธนาคารยังมีความต้องการสรรหาบุคลากรทางด้านนี้ โดยเปิดรับสมัครคัดเลือกจากนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบัน
เรื่องยังไม่ทันจะจบ อยู่ๆ ก็มีเอกสารจัดเกรดมหาวิทยาลัยหลุดขึ้นมาอีกชุด โดยในเอกสารนั้นแบ่งมหาวิทยาลัยในประเทศไทยออกเป็นหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่ม AA, AB และ BB ซึ่งถ้าเป็นมหาวิทยาลัยดังกลุ่ม AA เกรดต่ำเพียง 2.5 ขึ้นไปก็รับ ขณะที่มหาวิทยาลัยชื่อดังน้อยกว่าต้องมีเกรดสูง 3.00 หรือมีประสบการณ์ถึงจะผ่านเกณฑ์ งานนี้ไม่มีเจ้าภาพออกมาแสดงความรับผิดชอบว่าเป็นของหน่วยงานไหน
แม้ไม่มีผู้รับผิดชอบ แต่กระแสการจัดอันดับสถานศึกษาแบบที่ว่า ก็เหมือนกลายเป็นระเบิดชนวนที่ทำให้ผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์สมัครงานที่หลากหลายร่วมเข้ามาแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงมีกระทู้เผยแพร่ถึงสถานประกอบบริษัทอื่นๆ ที่ใช้เกณฑ์รายชื่อมหาวิทยาลัยในการรับสมัครอีกด้วย
เช่น กระทู้พันทิป ในหัวข้อ “ห้าง Central เลือกปฏิบัติในการรับพนักงาน (Discrimination) ไม่ต่างจาก SCB ครับ” จากนั้นก็มีผู้เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์และแสดงทัศนะกันอย่างเข้มข้น อาทิเช่น
“ผมก็ไม่เห็นด้วยหรอกครับ มันคือการแบ่งชนชั้นดีๆ นี่เอง แต่คนส่วนใหญ่กลับมองเป็นเรื่องปกติไปซะงั้น... อืม....เรื่องปกติ ไม่ได้รู้สึกอะไรกันเลยสินะ ก็ไม่แก้ไข ปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป คนขวางโลกอย่างผมคงต้อง จำใจยอมรับ” ความเห็นจาก Saberos
“จริงค่ะ เคยสมัครของเซ็นทรัลในจังหวัดบ้านเกิด ประกาศว่ารับ นศ.จบใหม่ด้วย สมัครอยู่คนเดียว ตอนสัมภาษณ์บอกว่าจะไหวเหรอคนเก่าเค้าจบ มช.นะ (เกรดก็ไม่ได้ขี้เหร่ มีผลโทอิกให้ตามที่ขอ) หลังจากสัมภาษณ์เราสัปดาห์นึงก็ประกาศรับตำแหน่งที่เราสมัครอีกครั้ง เศร้ามาก ก้มหน้าหางานต่อไป” ความเห็นจากกิ๊งก่องแก้ว แมว แมว
“ดูแล้วก็โอเคนะครับ ผมว่าไม่ได้แบ่งแยกอะไรเลย เรียนไม่เก่ง จบสถาบันไม่ดัง เขาก็รับ แต่ต้องมีประสบการณ์ 3 ปีขึ้นไป ผมว่าก็เหมาะสมดี” ความเห็นจากสำราญ บานบุรี
“มหา'ลัยในต่างประเทศเขาก็มีการจัดอันดับ ถึงแม้ไม่ได้แบ่งเกรด แต่อันดับมันก็บอกอยู่ ถ้าอยากยกฐานะของตนเองขึ้นมา ก็ต้องปรับปรุงคุณภาพของมหาวิทยาลัยในทุกๆ ด้าน เพื่อที่จะจูงใจให้นักศึกษาที่เก่งและมีความสามารถเข้ามาเรียนเยอะๆ ในอเมริกาเอง มหา'ลัยเอกชนติดอันดับ top ก็เยอะพอสมควร ดังนั้นมหา'ลัยดังๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นของรัฐเสมอ ในแง่ของนักศึกษาเอง ถ้าอยากเรียนมหา'ลัยดังๆ ก็ต้องขวนขวาย รู้จักบทบาทหน้าที่ของนักศึกษา มีความรับผิดชอบต่อการเรียนอย่างสม่ำเสมอ ของดีมีน้อย ต้องแย่งกันเป็นหลักพื้นฐานอยู่แล้ว อยากได้งานดี ก็ต้องมุมานะ ขวนขวาย เหมือนอยากได้หุ้นดีก็ต้องหมั่นทำการบ้าน” ความเห็นจากนักฆ่านิรนาม
“ต่อให้เอาประกาศแบบนี้ออกไป มันก็คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอยู่ดี เพราะสุดท้ายผมว่าเค้าก็คัดเด็กจากหมาลัยอันดับต้นๆ อยู่ดีเราต้องยอมรับว่าตราบใดกระบวนการสมัครงานที่มีแค่ดู resume แล้วเรียกสัมภาษณ์ ชื่อมหา'ลัยมันก็ช่วยเป็นตัวกรองได้อีกทาง เด็กจบมหา'ลัยชั้นนำ แต่ทำงานไม่ได้เรื่องก็มีหลายคน เด็กจบราชภัฏทำงานเก่งๆ ก็มีหลายคน แต่ความเสี่ยงมหา'ลัยชั้นนำมันมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเจอเด็กที่ไม่ได้เรื่อง อันนี้มองในฐานะผู้ประกอบการนะ ผมก็เป็นเด็กที่จบจากราชภัฏ แต่โชคดีตรงที่งานที่ทำเค้าเน้นที่ portfolio เลยไม่ประสบปัญหาเรื่องนี้ ฉะนั้นผมว่าถ้าจะแก้ที่ต้นเหตุจริงๆ มันต้องมีกระบวนการคัดกรองที่เข้มกว่านี้ ว่าเด็กคนไหนเก่งจริงๆ น่ารับมาทำงาน ไม่ใช้ดูโปรไฟล์แล้วเรียกสัมภาษณ์ ไม่งั้นมันก็วนลูปๆ เดิม” ความเห็นจากสามาชิกหมายเลข 958404
งานนี้คงต้องขอหยิบยกข้อคิดดีๆ จากท่าน ว.วชิรเมธี ที่กล่าวว่า อย่าดูถูกใครด้วย “การศึกษา” เพราะใบปริญญา ไม่ได้การันตี “สันดานคน” มาเตือนใจกันไปก่อนก็แล้วกัน...ธรรมะอำนวยพร.
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 4 ก.ค.2558