คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน ๆ
โดย เมตตา ทับทิม misstubtim@yahoo.com
มาตามคำเรียกร้องสำหรับฟังก์ชั่น "ห้องพระ" คราวนี้จะชวนคุยเกี่ยวกับหลักฮวงจุ้ยของห้องพระโดยตรง
ก่อนหน้านี้ เพิ่งจะเขียนถึงหมู่บ้านจัดสรร รวมทั้งคอนโดมิเนียม ส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงการออกแบบเพื่อให้มีฟังก์ชั่นหรือมุมห้องพระไว้เป็นการเฉพาะ ทำให้ห้องพระมักจะเป็นฟังก์ชั่นที่ต้องไปฝากแปะไว้บนโถงทางเดินชั้น 2 บ้าง หรือต้องทำเป็นหิ้งพระบ้าง
คำถามคือ ถ้าบ้านที่ซื้อ (ในหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดฯ) หรือแม้แต่บ้านที่สร้างเอง ตำแหน่งการจัดวางห้องพระ ควรจะมีกฎกติกาอะไรบ้าง
ทั้งนี้ทั้งนั้น สอบถามสถาปนิกที่เป็นรุ่นน้องโรงเรียน ได้ความว่า กรณีคอนโดมิเนียมพื้นที่จำกัดอยู่แล้ว ฟังก์ชั่นห้องพระอาจไม่จำเป็น รวมทั้งหมู่บ้านจัดสรร เพราะกลุ่มลูกค้าอาจจะมีคนนับถือคริสต์ อิสลาม ไม่ได้มีชาวพุทธอย่างเดียว
ขณะที่ถ้าเป็นบ้านสร้างบนที่ดินตัวเอง จะต้องมีการทำวิจัยร่วมกันระหว่างเจ้าของบ้านกับสถาปนิกว่าต้องการห้องพระ หรือไม่ และต้องการแบบไหน เพราะโดยส่วนใหญ่ ห้องพระจะถูกออกแบบเป็นห้องอเนกประสงค์ สามารถปรับการใช้สอยประโยชน์ได้หลากหลาย เนื่องจากเป็นพื้นที่ใช้สอยที่ให้เวลาน้อยกว่าห้องนอน ห้องนั่งเล่น ซึ่งเจ้าของแทบจะอยู่ด้วย 24 ชั่วโมง เป็นต้น
ข้อมูลจากคำบอกเล่ายังรวมถึงบ้านบางหลังที่จ้างออกแบบ เจ้าของบ้านกำหนดว่าให้ออกแบบเป็นห้องเก็บของบนชั้น 2 ไว้ก็แแล้วกัน มาตอนหลังจึงดัดแปลงทำเป็นห้องพระก็มี
Advertisement
1. ห้องพระควรวางชั้นบนดีกว่าชั้นล่าง น่าจะเป็นหลักการพื้นฐานก็ว่าได้ เพราะพระพุทธรูปเป็นของสูง ตำแหน่งที่วางก็เพื่อสักการะบูชา ดังนั้น การกำหนดผังไม่ว่าจะเป็นบ้านสูงกี่ชั้นก็ตาม ควรวางไว้ชั้นบน
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าห้องพระจะวางชั้นล่างไม่ได้ เพียงแต่จะมีข้อจำกัดมากมาย เพราะมีความยากในการเลือกสรรพื้นที่เนื่องจากชั้นล่างจะมีฟังก์ชั่นต่างๆ เยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็นห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องครัว ห้องน้ำ
2. ห้องพระห้ามติดกับห้องน้ำ เหตุผลทางฮวงจุ้ยคือห้องน้ำเป็นธาตุน้ำ ห้องพระเป็นธาตุไฟ ตามกฎเบญจธาตุหรือธาตุทั้ง 5 ธาตุน้ำพิฆาตธาตุไฟ ดังนั้น บ้านที่เอาห้องพระวางติดกับห้องน้ำ ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระจะเสื่อมได้เพราะถูกพลังของธาตุน้ำบั่นทอน
ในกรณีที่พื้นที่จำกัดจริงๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ไม่ควรวางองค์พระพิงผนังห้องน้ำ และหาตู้มาพิงด้านที่เป็นกำแพงห้องน้ำ ถือว่าแก้ฮวงจุ้ยได้ในระดับหนึ่ง
3. ห้องพระต้องอยู่ในทำเลที่สงบ ไม่ใช่อยู่ในตำแหน่งการใช้งานที่วุ่นวาย เช่น ติดโฮมเธียเตอร์ ซึ่งมีเสียงดังจากทีวี วิทยุ หรือแม้แต่ถ้าอยู่ติดห้องครัวก็อาจจะถูกรบกวนจากเสียงและกลิ่นรบกวนได้ เป็นต้น
จุดนี้เองจึงบอกว่าห้องพระควรวางไว้อยู่ชั้นบน เพราะจะมีแต่ห้องนอนเป็นส่วนใหญ่ การใช้ประโยชน์ก็คือนอน ความสงบจะมีมากกว่าชั้นล่างโดยอัตโนมัติ
4. กรณีห้องพระติดห้องนอน เจ้าของบ้านพึงระมัดระวังเรื่องการวางเตียงให้ดี โดยห้ามวางเตียงในลักษณะหันปลายเท้าไปที่ห้องพระ เพราะถือเป็นการไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะไม่เป็นมงคลกับคนที่นอน นั่นหมายความว่าควรหันเตียงให้วางขวางกับห้องพระ
ก็มีคำถามอีก นั่นแหละว่า แล้วถ้าหันหัวเตียงไปที่ห้องพระล่ะ หลักฮวงจุ้ยบอกว่าให้พิจารณาว่าถ้าตำแหน่งขององค์พระหรือโต๊ะหมู่บูชาไม่ติดหัวเตียง ก็ถือว่าโอเค วางได้ แต่ถ้าตั้งติดกันถือว่าเป็นจุดบกพร่อง เพราะคนนอนจะได้รับอิทธิพลของธาตุไฟ ทำให้ปวดหัวง่าย นอนไม่ค่อยหลับอีกต่างหาก
5. มีคำถามถึงกรณีบ้านเล่นระดับล่ะ คำตอบก็ยังคงให้วางห้องพระห้ามต่ำกว่าห้องอื่นในบ้าน
6. ในด้านทิศต่างๆ การจัดวางองค์พระควรให้หันหน้าไปทางทิศเหนือ-ทิศตะวันออก-ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศที่ไม่แนะนำคือไม่ควรหันไปทางทิศตะวันตก เพราะถือคติว่าจะทำให้ชีวิตตกต่ำ
7. หากมีพระจำนวนมาก ควรจัดวางให้เป็นลำดับ เริ่มจากพระพุทธรูปอยู่สูงสุด ถัดลงมาเป็นพระสาวก อาทิ พระสีวลี พระสังกัจจายน์ ลำดับต่อมาเป็นพระเกจิอาจารย์ต่างๆ อยู่ต่ำลงมาอีกระดับหนึ่ง
ถ้ามีพระโพธิสัตว์กวนอิม หรือเทพองค์อื่นๆ เช่น พระแม่ศรีอุมาเทวี พระพิฆเนศ แนะนำว่าควรจัดวางแยกโต๊ะไว้ต่างหาก กรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ยึดหลักการตำแหน่งจัดวางพระพุทธรูปต้องอยู่สูงสุด
8.สำคัญมากคือไม่ควรตั้งพระพุทธรูป หรือหิ้งบรรพชน หันตรงประตูเด็ดขาด เพราะพลังปราณจะถูกรบกวนทำให้เป็นพื้นที่ที่ขาดความสงบนิ่ง
ฮวงจุ้ยปลีกย่อยยังรวมถึงหน้าองค์พระห้ามมีราวตากผ้าหรือราวแขวนผ้า จะทำให้โชคลาภติดขัด
ถ้าวางองค์พระตรงกับประตูห้องน้ำ เป็นการไม่เคารพ ทำให้เงินทองรั่วไหล
และถ้าเป็นหิ้งพระ พึงระวังใต้หิ้งพระให้ดี ห้ามวางถังขยะหรือสิ่งของอื่นๆ เพราะจะทำให้การเงินติดขัด
เหนือสิ่งอื่นใด จัดฮวงจุ้ยห้องพระให้ดียังไงก็ไม่สู้ประพฤติดีเริ่มที่ตัวเรา ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ขอบุญรักษาทุกท่านค่ะ
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์มติชน