วิพากษ์เดือด!"บ.เอกชน"จัดเกรดมหา'ลัย ความลับที่มีอยู่จริง
ข้อมูลจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 กรกฎาคม 2558
ดรามาบานปลายไม่จบสิ้น หลังมีประกาศรับสมัครงานของธนาคารไทยพาณิชย์ระบุเลือกรับสมัครงานจากชื่อมหาวิทยาลัย ล่าสุดมีเอกสารจัดเกรดมหา'ลัยออกมาอีกชุด จุดประเด็นวิพากษ์สนั่นโลกโซเชียลฯ จนอธิการบดีม.รังสิต ออกมาโพสต์ขอบคุณที่ถูกประเมินเป็นมหา'ลัยเกรดต่ำ ฟากธ.ไทยพาณิชย์ ยันไม่ใช่เอกสารของธนาคาร
ดูจะไม่จบง่ายๆ สำหรับดรามาเลือกรับสมัครงานจาก "ชื่อมหาวิทยาลัย" ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ตอนนี้นั่งไม่ติด วิ่งแก้ตัวให้วุ่นทั้งร่อนเอกสารข่าวแจงปมดรามา ไปจนถึงส่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เคลียร์กับประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) หลังมีข่าวผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่พอใจธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ประกาศรับบัณฑิตเข้าทำงานจาก 14 สถาบันเท่านั้น และเตรียมบอยคอตธนาคารชื่อดังด้วยการยกเลิกทำธุรกรรม
ล่าสุด มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เตรียมถอนเงิน 63 ล้าน จากธนาคารไทยพาณิชย์ หากมีมติ "บอยคอต" ในที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศในวันที่ 3 ก.ค.นี้
แม้ทางธนาคารจะพยายามออกหนังสือชี้แจงต่อสังคม และใช้วิธีส่งคนเข้าพบอธิการบดีราชภัฏเพื่อยื่นข้อเสนอสนับสนุนการศึกษาทุกภาคส่วน แต่ดูเหมือนยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง เพราะสิ่งที่สังคม และหลายสถาบันการศึกษาอยากเห็นมากที่สุดคือ คำขอโทษที่แสดงถึงความจริงใจจากผู้บริหารระดับสูง ไม่ใช่การส่งข่าวประชาสัมพันธ์ พีอาร์ผ่านโซเชียลมีเดีย หรือส่งคนไปเจรจากับมหาวิทยาลัยที่เตรียมบอยคอต
ถึงตอนนี้ ไม่เพียงแต่ปัญหาในข้างต้นเท่านั้น ยังมีเอกสารจัดเกรดมหาวิทยาลัยโหมกระพือความร้อนแรงขึ้นมาอีก ส่งผลให้ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตประธานรัฐสภา ต้องออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก "Arthit Ourairat" ถึง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด กรณีที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดอันดับมหาวิทยาลัยรังสิต ไว้ในระดับ BB ในลำดับสุดท้ายที่ 34 โดยระบุข้อความไว้ดังนี้
เรื่อง ขอขอบคุณเรียน ท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด
ตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประกาศรับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาจาก 14 สถาบัน และกรุณาจัดอันดับมหาวิทยาลัยรังสิตไว้ในระดับ BB ในลำดับสุดท้าย ที่ 34 นั้น
มหาวิทยาลัยรังสิต รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
นายอาทิตย์ อุไรรัตน์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต
ทางฟากธนาคารไทยพาณิชย์ หลังจากที่ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ต่อสายไปสอบถามถึงเอกสารดังกล่าว แหล่งข่าวระดับหัวหน้า ยืนยันว่า ไม่ใช่เอกสารที่มาจากทางธนาคารแน่นอน
อย่างไรก็ดี ในจังหวะที่กระแสดรามาไทยพาณิชย์กำลังฮิตติดลมบน ทีมข่าวถือโอกาสเปิดพื้นที่แสดงความเห็น โดยตั้งคำถามในแฟนเพจ ASTVผู้จัดการ Live ผ่านหัวข้อ "คุณคิดอย่างไรกับการจัดเกรดมหาวิทยาลัยของบริษัทเอกชนในการรับคนเข้าทำงาน" ปรากฏว่ามีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มองว่า เป็นความจริงที่รู้ๆ กันอยู่ แต่โอกาสคือสิ่งที่ไม่ควรปิดกั้น แม้หลายบริษัทจะไม่เชื่อมั่นในสถาบันก็ตาม
"เลือกสถาบันไม่เป็นไร แต่อย่าปิดกั้นเขา อย่าทำลายความมั่นใจเขาที่จะออกมาพัฒนาประเทศ ถ้าใครมีโอกาสไปงานรับปริญญาของทุกสถาบัน พ่อแม่พี่น้องตัวเขาภาคภูมิใจมากๆๆๆ ที่จบปริญญามาได้" ความคิดเห็นจากคุณ Weerasak Subsaenudom
"ถึงแม้ไม่เชื่อมั่นในสถาบัน แต่ขอให้เด็กได้พิสูจน์ตัวเองก่อนนะครับ ว่าเขาทำได้หรือเปล่า ไม่ใช่เพียงแต่ดูชื่อสถาบันและทิ้งลงถังขยะ ในส่วนของสถาบันเอง คงต้องมีการทบทวนว่าอะไร ที่ทำให้หน่วยงานจ้างงาน ต้องการเด็กของเรามากที่สุด และแก้ไขจุดอ่อนอันนั้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา" ความคิดเห็นจากคุณ Boonsong Mahatthanaporn
"คงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ต่างกันที่ว่าเอกชนอื่นๆ เขาไม่กล้าหาญที่จะบอกความจริงไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้บริหารจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงพนักงานที่มีมาตรฐานส่วนใหญ่มาจากสถาบันไหน เอกชนคงเอาสถาบันนั้นๆ เป็นอันดับต้นๆ จนมองข้ามความเป็นจริงว่าสถาบันอื่นๆ ก็ไม่ได้ด้อยกว่ากัน แต่ยังไม่มีตัวชี้วัดมากพอเป็นเครื่องยืนยันว่าสถาบันนั้นๆ มีคุณค่าเพราะนิสิตที่จบจากสถาบันอื่นๆ อาจไม่ได้รับโอกาสมากพอกับสถาบันที่อยู่ใจของเอกชน" ความคิดเห็นจากคุณ Korn Thanakorn
"เพราะบ้านเมืองเรามันยึดติดในเรื่องสถาบันการศึกษามากจนเกินความพอดี แต่ไม่ได้ดูว่าคนคนนั้นมีความสามารถ มีความซื่อสัตย์ มีความอดทนในการทำงานหรือไม่ สถาบันเขาสอนเพียงความรู้ซึ่งก็ไม่ได้สอนนอกตำราเรียนที่ใช้กันมาก แต่สิ่งที่จะวัดและคัดคนได้คือ ความรอบรู้ นิสัยใจคอ ทัศนคติ ของบุคคล
น้องๆ ที่จบมาแทบทุกสถาบันจะทำงานไม่ค่อยเป็น เพราะระบบการทำงานแต่ละที่จะมีความแตกต่างกัน จึงมีการทดลองการทำงานกันก่อน ซึ่งถ้าไม่ผ่านก็ไม่รับเข้าทำงาน แต่ส่วนใหญ่จะผ่านเพราะเริ่มชินระบบการทำงานของบริษัทนั้นๆ แต่สิ่งที่อยากจะบอกไปคือการจบสถาบันดังๆ ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดเลยว่าจะทำงานดี บอกได้เลยว่าแย่กว่าเด็กๆ น้องๆ ที่จบสถาบันไม่ดังด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่พบเห็นบ่อยเสมอ" ความคิดเห็นจากคุณ Panupatthacoht Kritkongrit
นอกจากนั้น ยังมีความเห็นที่บอกให้บางมหาวิทยาลัยยอมรับความจริง และกลับมา ทบทวนที่หลักสูตรการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตออกสู่ตลาดแรงงาน
"มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องมองความเป็นจริงครับที่อื่นเขาก็ทำแบบนี้แค่ไม่ประกาศออกมาแค่นั้นเอง ลองมองเป็นโอกาสที่จะปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้เป็นที่ยอมรับดีกว่าครับ" Worawit Ayukong
"ลองมองเป็นส่วนๆนะ เรื่องบริษัทเอกชนรับพนักงานเลือกสถาบันก็ส่วนหนึ่ง ส่วนตัวมหาลัยเองก็กลับมองตัวเองแบบไม่หลอกตัวเองด้วยว่าเราไม่มีมาตรฐานตามนั้นไหม ถ้าเรามีมาตรฐานจริงก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้สังคมเชื่อว่าเด็กของเรามหาลัยของเรามีคุณภาพ" ยุทธะนา ปานมงคล
ถึงตอนนี้ หากมองในแง่ดี ไม่ว่าจะ ดรามารับสมัครงานจากชื่อมหาวิทยาลัย หรือการหลุดออกมาของเอกสารจัดเกรดมหาวิทยาลัย อย่างน้อยๆ ก็ช่วยให้หลายมหาวิทยาลัยหันกลับมาตระหนักเพื่อทบทวนการทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตอย่างจริงจังมากขึ้น เช่นเดียวกับตัวผู้เรียนเอง ถ้าคิดแค่เพียงอยากได้ใบปริญญาแต่จบออกไปอย่างคนที่ไม่มี "ปัญญา" ไม่ว่าจะจบจากมหาวิทยาลัยไหน แม้จะได้โอกาสรับเลือกให้เข้าทำงานในบริษัทต่างๆ สิ่งหนึ่งที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์คนเก่งก็คือ "ผลงาน" เหมือนกันกับ "ความดี" ที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์คนดี
ที่มาจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 2 กรกฎาคม 2558