'สมพงษ์'ห่วงปฏิรูปการศึกษาเหลวแนะโละฉบับเก่า-ยกร่างพ.ร.บ.ใหม่
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การปฏิรูปการศึกษาในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา อยู่ในระยะ ทดลอง ยังไม่เห็นผลชัดเจน และอาจไม่เกิดผลในการเปลี่ยนแปลงระบบการจัด การศึกษาในภาพรวม โดยเฉพาะการปฏิรูปที่ปรับแก้ข้อบกพร่องใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพราะแก่นสาระของ พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดจากความต้องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากรที่ค่อนข้างสูง และยังเกิดปัญหาการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการของครู และปัญหาอื่นๆ มากมาย ดังนั้น ถ้าต้องการให้การปฏิรูปเห็นผลจริง ต้องยกเลิก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบันและยกร่างใหม่ เพื่อเน้นการปฏิรูปสู่การเรียนรู้ มุ่งที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก อย่างแท้จริง
"ผลการประชุมร่วมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ผ่านมา พูดถึงบทบาทหน้าที่ของรัฐในการจัดการศึกษา แต่ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาเชิงระบบทั้งหมด อย่างการปรับบทบาทของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เป็นการเปลี่ยนจากปัญหาหนึ่งไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง ส่วนที่ ศธ.ประกาศลดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) จาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เหลือ 5 กลุ่มสาระฯ เพื่อลดการภาระในการสอบและแก้ปัญหากวดวิชา เพราะอยากให้เด็กเรียนอย่างมีความสุขนั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่เด็กยังต้องเรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระฯเช่นเดิม เพราะโครงสร้างหลักสูตรไม่เปลี่ยน หากจะแก้ปัญหาดังกล่าวควรยกเครื่องหลักสูตรใหม่ให้เหลือเพียง 5 กลุ่มสาระฯหลัก ที่เหลือใช้วิธีเก็บคะแนนหรือทำเป็นโครงงานแทน" นายสมพงษ์กล่าว
ที่มา มติชน วันที่ 30 มิถุนายน 2558