ภาคีเครือข่ายจัดอบรมใช้เครื่องมือหลักสูตร ‘โตไปไม่โกง’ ครูอนุบาล 1 –ป.3 หวังปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่มีคุณธรรมจริยธรรม ด้านอธิการบดี นิด้า ชี้ครูมีส่วนสำคัญสร้างการเปลี่ยนแปลง หนุนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม แม้จะยากลำบาก แต่ถ้าไม่ทำเราจะตาย
วันที่ 29 มิถุนายน 2558 มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศ ร่วมกับมูลนิธิมั่นพัฒนา มูลนิธิยุวพัฒน์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) และภาคีเครือข่าย จัดการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือในการเรียนการสอนหลักสูตร ‘โตไปไม่โกง’ รุ่นที่ 1/2558 แก่ครูระดับชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 1-ประถมศึกษาปีที่ 3 ระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2558 ณ ห้องประชุมจีระ บุญมาก อาคารสยามบรมราชกุมารี นิด้า
โดยในเวทีเสวนา ‘รวมพลังขับเคลื่อนเพื่อสร้างจิตสำนึกและคุณค่าความดี’ ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ปัญหารากเหง้าของไทยเกิดจากสังคมขาดคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งไม่สามารถปลูกฝังให้คนในประเทศตั้งแต่วัยเยาว์ได้ จึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เพื่อสร้างพลเมืองที่ดีของชาติ ทำอย่างไรจะสร้างค่านิยมการได้มาช้า ได้มาน้อย แต่ขั้นตอนถูกต้องเป็นสิ่งดี ส่วนการได้มาเร็ว ได้มามาก แต่ขั้นตอนโกงมาต้องประณาม และเป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้
คุณครูถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม มิฉะนั้นเมื่อเติบใหญ่จะไม่มีแผ่นดินอยู่หรือมีงานทำ หนึ่งในนั้น เริ่มต้นด้วยการจัดเวรทำความสะอาดห้องหรือเวรเก็บขยะในโรงเรียน สิ่งเหล่านี้จะช่วยเด็กสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่า บางโรงเรียนไม่มีกิจกรรมลักษณะนี้แล้ว จึงอาจส่งผลต่อการสร้างจิตสำนึกดังกล่าวกับเด็กได้
อธิการบดี นิด้า ยังกล่าวว่า เด็กสมัยก่อนมีคุณธรรมจริยธรรมมากกว่าปัจจุบัน ซึ่ง 5 ปีแรกในการเป็นอาจารย์นิด้า นักศึกษารู้จักหน้าที่ ไม่โกงข้อสอบ หากพบพฤติกรรมเกิดขึ้นแล้วจับได้ นักศึกษาจะไม่กล้ากลับมาสู้หน้าอีก แต่ 5 ปีหลังในการเป็นอาจารย์นิด้ากลับพบเพื่อนยังต้อนรับนักศึกษาที่โกงข้อสอบและถูกสั่งพักการเรียนอย่างดี หากเป็นเมื่อ 20 ปีก่อน คงไม่กล้ามาให้เพื่อนเห็น สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงว่า เด็กไทยสมัยนี้คิดอย่างไรกับการโกง ดังนั้นหากไม่ปลุกกระแสประเทศในอนาคตจะไม่เหลืออะไร
“การขับเคลื่อนเรื่องโกงต้องร่วมมือกันทั้งประเทศ แม้จะยากลำบาก แต่ถ้าไม่ทำเราจะตาย อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลาเป็นปี แต่ต้องทำ ถ้าไม่ทำ จุดจบก็มองเห็นแล้ว ตราบใดที่เราเปลี่ยนแปลงให้เลวลงได้ เราก็เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้” ดร.ประดิษฐ์ กล่าว
ด้านนายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวว่า ทัศนคติ กรอบความคิด ความเชื่อ ในสังคมได้ยินมามาก คือ การพูดถึงสังคมสีเทา และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น มักได้ยินเป็นเรื่องธรรมดา เพราะอย่างไรสังคมก็เป็นสีเทา จึงอยากชวนคิดในช่วงการเป็นผู้ใหญ่ สังคมสีเทาคงที่เหมือนเดิมสม่ำเสมอหรือสีเทาเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นทัศนคติที่ยอมรับกันถือเป็นภัยอย่างยิ่ง ด้วยสังคมสีเทา ไม่ซื่อสัตย์สุจริตส่งผลร้ายต่อประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การสูญเสียทางเศรษฐกิจ อาชญากรรม ยาเสพติด ค้ามนุษย์ ความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย จึงต้องเปลี่ยนกรอบแนวคิดนี้
ด้วยเหตุนี้ ต้องช่วยกันบูรณาการความร่วมมือ ทั้งในระดับนโยบายภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรภาคธุรกิจ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศใหม่ แต่ตั้งใจเฉย ๆ ไม่เพียงพอ ต้องมีวิธีการขับเคลื่อนอย่างมีพลัง โดยการสร้างกลไกในการทำงานจริง ยกตัวอย่าง ภาคธุรกิจจัดตั้งโครงการแนวร่วมปฏิบัติการต่อต้านคอร์รัปชัน
ประธานกรรมการมูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวอีกว่า การฝึกอบรมในครั้งนี้มีครูเข้าร่วมราว 200 คน ถ้าทำงานอย่างเข้มข้นใน 10 ปีข้างหน้า จะมีเด็กไทยอย่างน้อย 8 หมื่นคน ถูกปลูกฝังให้เป็นคนดีต่อไป ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมครูเข้ารับการฝึกอบรมรุ่นต่อไปอีก อย่างไรก็ตาม ต้องช่วยกันคิดถึงกลไกให้เกิดการมีส่วนร่วมไว้สำหรับเป็นเครื่องมือเล็ก ๆ ในการปลูกฝังจิตสำนึก
ขณะที่พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันมีมานานแล้ว ไม่เฉพาะในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งมีกฎหมายบังคับใช้ แต่การปฏิบัติไม่เกิดผล คนกระทำผิดไม่ได้รับการลงโทษ และผู้มีอำนาจเพิกเฉยต่อการตัดสินใจ ทำให้เกิดความชินชาของเยาวชนรุ่นใหม่ เริ่มมีความรู้สึกว่า คนโกงอยู่ในสังคมได้เชิดหน้าชูตา ถือเป็นเรื่องอันตราย ดังนั้นต้องทบทวน
สำหรับเหตุผลในการจัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติชุดใหม่ ทั้งที่มีหน่วยงานดูแลด้านนี้อยู่แล้ว เลขานุการ คกก.การต่อต้านการทุจริตฯ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตั้งขึ้น เพื่อให้การทำงานรวดเร็ว ใช้พลังขับเคลื่อนได้ ซึ่งมีข้าราชการเป็นกรรมการน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
“คกก.ชุดนี้มีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกแก่เด็ก ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน การปราบปราม โดยเร่งรัดผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการ เพื่อไม่ให้คนกล้ากระทำผิด และการประชาสัมพันธ์ สร้างการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง” พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ กล่าว และว่า รัฐบาลตั้งใจจริงให้การทุจริตเป็นเรื่องที่ไม่ดี และให้คนเหล่านั้นปรับปรุงตัวดีขึ้น แต่มิใช่ทำให้อยู่ในสังคมไม่ได้ หากต่างประเทศเห็นการเปลี่ยนแปลงในการปรับปรุงคุณธรรมจริยธรรมจะทำให้ภาพลักษณ์ของไทยดีขึ้นด้วย .
ที่มา สำนักข่าวอิศรา วันที่ 29 มิถุนายน 2558