ออมสินอนุมัติแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครู แบ่งลูกหนี้เป็น 3 กลุ่ม ชะลอฟ้องร้อง 3 ปี และพักชำระหนี้ 3 ปี หรือจ่ายดอกเบี้ยแค่ครึ่งเดียว รวมทั้งให้กรมบัญชีกลางหักเงินเดือนใช้หนี้ธนาคาร ทำสัญญามัดมือห้ามก่อหนี้กับสหกรณ์ครูอีก เล็งเลิกโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.7 ตัดหนทางสร้างหนี้อีกแหล่ง
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ได้หารือเรื่องปัญหาหนี้สินครูร่วมกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เพื่อจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการธนาคารออมสิน ว่า ขณะนี้ธนาคารออมสินได้อนุมัติเป็นหลักการเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติ และแจ้งมายังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แล้ว โดยจะมีการดำเนินการดังนี้ คือ ให้แบ่งลูกหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ลูกหนี้ขั้นวิกฤติรุนแรง คือลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการถูกฟ้อง ถูกดำเนินคดี หรือถูกบังคับคดี ขาดความสามารถในการชำระหนี้ 2.ลูกหนี้ใกล้วิกฤติ คือลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 12 งวดติดต่อกัน 3.ลูกหนี้ปกติ คือลูกหนี้ที่ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้และยังสามารถบริหารจัดการหนี้ได้
หลังจากแบ่งกลุ่มลูกหนี้ได้แล้วจะมีมาตรการในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยลูกหนี้ขั้นวิกฤติรุนแรงจะได้สิทธิ์ 1.ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีหรือบังคับคดีไม่เกิน 3 ปี โดยต้องมีระยะเวลาฟ้องคดีเหลือไม่น้อยกว่า 2 ปี 2.พักชำระดอกเบี้ยไม่เกิน 3 ปี แต่ให้ชำระเงินต้น ส่วนลูกหนี้ใกล้วิกฤติให้พักชำระดอกเบี้ยไม่เกินครึ่งหนึ่งเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี แต่ให้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยส่วนที่เหลือ สำหรับลูกหนี้ปกติให้พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี แต่ให้ชำระดอกเบี้ย ทั้งนี้ ลูกหนี้ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 แต่หากลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไข 2 งวดติดต่อกัน ให้ลูกหนี้กลับเข้าสู่เงื่อนไขและมาตรการตามสัญญาเดิม
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังมีเงื่อนไขประกอบเพิ่มเติมคือ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำประกันเงินกู้ และลูกหนี้ต้องยินยอมให้กรมบัญชีกลางหักเงินเดือนชดใช้หนี้ให้ธนาคาร ที่สำคัญลูกหนี้จะต้องไม่สร้างภาระหนี้เพิ่มกับสหกรณ์ออมทรัพย์อีก โดยให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลของลูกหนี้ที่มีกับสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วย
อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างดังกล่าวนี้ได้รับการยินยอมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) แล้ว และธนาคารออมสินกำลังดำเนินการแจ้งมาตรการให้ สกสค.ทราบ เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้สินครูฯ ต่อไป
รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการ สกสค.ที่ผ่านมาได้มีการพูดถึงการดำเนินการโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.7 ซึ่งได้มีการชะลอโครงการดังกล่าวนี้ไว้แล้ว แต่มีกรรมการเสนอว่าควรจะยกเลิกโครงการ ช.พ.ค.7 หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าครูสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นได้หากมีความจำเป็น อาทิ กู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือสถาบันการเงินอื่นๆ ได้ เป็นต้น แต่ก็ยังไม่เป็นข้อยุติว่าจะยกเลิกโครงการดังกล่าวหรือไม่ เป็นเพียงข้อเสนอในที่ประชุมซึ่งจะต้องนำมาหารือกันอีกครั้ง.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 26 มิถุนายน 2558