ร่างพ.ร.บ.ศึกษาใหม่ ตั้ง"กรมวิชาการ"
สนช., สปช., คกก.อำนวยการปฏิรูปการศึกษาฯ ศธ.ถกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ เสนอตั้งกรมวิชาการทำหน้าที่พัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างจริงจัง ชี้ที่ผ่านมาเป็นแค่หน่วยงานเล็กๆ ในสังกัด สพฐ.เท่านั้น รวมทั้งปรับบทบาท สพท.ให้เป็นคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจังหวัด เร่งเสนอแนวทางดังกล่าวให้ รมว.ศธ. ซูเปอร์บอร์ดพิจารณา
คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดการประชุมร่วมกันภายใต้หัวข้อเรื่องทิศทางการปฏิรูปการศึกษา โดยมีนายตวง อันทะไชย ประธาน กมธ.การศึกษาและกีฬา เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากทั้ง 3 คณะเข้าร่วมประชุม ประมาณ 40 คน
นายตวงกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ทั้งของคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปฯ และที่ สนช.ยกร่างขึ้น ขึ้นมาพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย และป้องกันไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยทั้งร่างกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นการปรับแก้และต่อยอดมาจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพื่อให้การจัดการศึกษาเน้นไปที่คุณภาพของผู้เรียนมากขึ้น ไม่ใช่เน้นโครงสร้างเช่นที่ผ่านมา ทั้งนี้จากการหารือพบว่ามีประเด็นที่เห็นตรงกัน ว่าควรต้องงมีการปรับแก้ในประเด็นหลักๆ ดังนี้
การจัดการศึกษาปฐมวัย ที่ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 9 ปี โดยเพิ่มระดับปฐมวัยอีก 2 ปี ที่เด็กควรจะต้องเข้าสู่การศึกษาระดับปฐมวัยตั้งแต่อายุ 4 ขวบ จนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 และจัดตั้งกรมวิชาการขึ้นมาเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ศธ. ทำหน้าที่ดูแลเรื่องหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะ เพราะขณะนี้ไม่มีหน่วยงานหลักที่มาทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง มีเพียงสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานเล็กๆ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งไม่สามารถดูแลและพัฒนาหลักสูตรได้ครอบคลุม
นายตวงกล่าวต่อว่า ทั้งยังพิจารณาปรับบทบาทเขตพื้นที่การศึกษา มาเป็นคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อบริหารจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะเดียวกันยังเห็นสอดคล้องกันว่าให้มีสำนักงานประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีฐานะเป็นองค์การมหาชน แทนสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ทำหน้าที่ให้คำแนะนำ สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ประเมินและพิจารณารับรองคุณภาพการศึกษา โดยไม่ก่อให้เกิดภาระเกินความจำเป็นของสถานศึกษา โดยความสมัครใจในจำนวนและระยะเวลาที่เหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา ซึ่งทั้งหมดนี้ตนมีความเห็นว่าน่าจะถือเป็นข้อสรุปที่จะบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อให้การจัดการศึกษาเกิดประโยชน์แก่ตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้นก็ค่อนข้างมีความสอดคล้องกัน จากนี้ทาง สนช.จะนำร่าง พ.ร.บ.ฯ เสนอให้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซูเปอร์บอร์ด ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ และเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช.อีกรอบ ก่อนประกาศใช้ต่อไป.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 25 มิถุนายน 2558