พูดกันตลอดเวลานับตั้งแต่ตั้งกระทรวงศึกษาธิการแล้วกระมังว่า ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปการศึกษา แล้วก็มีการทำกันมาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้
ที่มาไกลมาก จากโรงเรียนวัด กลายเป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานแบบตะวันตก และพร้อมที่จะเบนไปตามอย่างที่ตะวันตกกำลังเป็น
เช่น การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สูง ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง หรือการตัดต่อโปรแกรมเรียนหลากหลาย แต่ที่น่าห่วงใยคือดูเหมือนเด็กของเราจะไม่เพียงแต่ห่างชั้นกันเอง แต่จะด้อยกว่าเพื่อนร่วมเอเชียของเราเอาซะด้วย นี่คือความรู้สึกเชิงสัมพัทธ์เมื่อผู้ปกครองมองเด็กของเรากับชาติเอเชียตะวันออก สิงคโปร์หรือแม้แต่เวียดนาม
ยิ่งมีการสำรวจพบว่าเด็กสมัยนี้อ่อนเลข อ่อนภาษา อ่อนความรู้รอบตัวและศีลธรรมจรรยา ยิ่งวิตกไปกันใหญ่ ทั้งๆ ที่ทอดตาไปแล้ว โรงเรียนมีมากมาย ครูวุฒิสูงๆ ก็ผลิตออกมาเยอะกว่าอดีต อีกทั้งไทยก็ไม่เคยตกเทรนด์ของโลก แล้วอุปสรรคที่แท้จริงของเราคืออะไร ความยากจน ความโง่ในพันธุกรรม หรือความด้อยในการบริหารจัดการความรู้ และเด็กของผู้เกี่ยวข้องนั้นหรือ คำตอบคงไม่ใช่กำปั้นทุบดินแบบนี้แน่
แม้ว่าการศึกษาไทยจะมีจุดแข็งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่มีจำนวนมาก โรงเรียนที่พอเพียง (อาจขาดแคลนในบางที่) รากฐานวัฒนธรรมและภาษาที่มีมายาวนาน ประเทศของเราก็ไม่ได้เป็นประเทศล้าหลัง และสมองของเด็กที่ไม่เชื่อว่าเด็กไทยโดยรวมจะด้อยไปกว่าพันธุ์อื่น แต่อุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งเด็ก ถึงระดับรากฐานความคิดก็คือ การสอนสั่งในเชิงปลูกฝังสิ่งงมงาย ปราศจากตรรกะและวิทยาศาสตร์รองรับ สิ่งเหล่านี้ปนอยู่ในสิ่งที่เราเชื่อว่า มันคือจุดแข็งที่สุดของการศึกษา สังคม ประเพณีไทยเลยด้วยซ้ำ นั่นคือการเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และการเคารพผู้ใหญ่
การเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นจริงเป็นจังมากในการสอนเยาวชนของเรา บางท่านอาจแย้งว่าในโลกตะวันตกวิทยาลัยศาสนาเขาก็มีการปลูกฝังเข้มข้น หรือธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ เช่น ขอพรรูปปั้นให้สอบได้นั้นก็มีอยู่ทั่วไป แต่ในโรงเรียนไทยดูจะมีมากกว่านั้น
จริงอยู่ที่การเคารพนับถือสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้นั้น อาจได้ผลในแง่กำลังใจว่าถ้าเราทำดี จะมีเทพคุ้มครองปกปัก เป็นกุศโลบายให้มุ่งมันทำดี ตั้งใจขยันเล่าเรียน แต่ถ้าเกินเส้นมาตรฐานไปก็อาจจำกัดความคิดสร้างสรรค์ ผลักบุคคลให้จมอยู่ในกรอบความงมงาย
เรื่องแบบนี้ครูและผู้บริหารหลายแห่งจริงจังมาก ทั้งที่ควรเป็นแค่ทางเลือกของเด็ก เช่น ในหลายแห่งมีศาลพระภูมิหรือรูปปั้นฤๅษีที่ให้เด็กต้องเคารพ มีพิธีกรรมที่ครอบงำเด็กให้เชื่อฟัง ใครขัดขืนจะถูกลงทัณฑ์อย่างน้อยก็ทางสังคม ทำให้เด็กกลัวเกรงสิ่งเหลวไหล ส่งผลกระทบต่อจิตใต้สำนึกเด็ก
สิ่งเช่นนี้ในโลกที่เจริญแล้วไม่มี หรือมีก็แต่เป็นไปในเชิงสนุกสนาน เด็กจะแยกแยะได้ว่าอะไรจริงอะไรเป็นความเชื่อ ซึ่งต่างจากของไทย เมื่อการปลูกฝังเป็นเช่นนี้ เมื่อโตไปเราจึงได้เห็นผู้ใหญ่ที่ปัญญาตีบตัน เมื่อไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ก็มุ่งแต่ทำพิธีขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย ตกเป็นเหยื่อสิบแปดมงกุฎ เจ้าพ่อเจ้าแม่ง่ายดาย แม้จะสูงยศศักดิ์
สังคมไทยเป็นสังคมที่ถืออาวุโส เพราะเชื่อกันมาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้วว่า คนนั้นไม่มีความเท่ากัน คนด้อยกว่านอกเหนือจากต้องทำงานหนักชดใช้กรรมชาติที่แล้ว ยังต้องทำดีต่อผู้ใหญ่ให้เขาเอ็นดู จึงจะเอาตัวรอดในสังคมได้ ขณะที่ผู้ใหญ่แม้จะมีบางที่สอนว่าต้องให้ความกรุณาต่อผู้น้อย แต่ก็ไม่มีข้อบังคับอะไร ในสังคมโรงเรียนและสังคมชีวิตจริงผู้ใหญ่มีอำนาจมาก และจะให้ความเมตตากับเด็กหรือไม่ขึ้นกับตัวผู้ใหญ่ แต่ถ้าเด็กไม่ยอมตามผู้ใหญ่ล่ะก็มีเรื่องแน่
จริงอยู่ที่ค่านิยมให้เด็กเคารพผู้ใหญ่นั้นมีแง่มุมที่ดีอยู่มาก โดยเฉพาะการให้เด็กตั้งใจเล่าเรียน เชื่อฟังครูผู้สอนที่ถ้าสอนสั่งในสิ่งที่ดี เด็กจะเก็บเกี่ยวได้มาก เด็กที่โตขึ้นจะกลายเป็นคนนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ และช่วยเหลือคนแก่เฒ่าได้ สมค่าของการเป็นสังคมที่ต้องดูแลคนสูงวัยกัน
กตัญญูนั้นเป็นสิ่งดีแน่ แต่ถ้านำมาผูกกับทุกเรื่องที่ผู้ใหญ่ทำต้องถูกต้อง ถือว่าไม่ตรงกับหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เพราะไม่มีใครที่จะถูกไปทุกเรื่องหรือผิดไปทุกเรื่อง แต่ในสังคมโรงเรียนที่ครูถืออาชญาสิทธิ์ตั้งแต่เริ่มต้นสั่งพิธีไหว้ครู ให้เด็กต้องระย่อกว่าขั้นหนึ่งแล้ว การคัดค้านครูแม้แต่ในเรื่องวิชาการเป็นเรื่องที่ยาก สิ่งเหล่านี้ยิ่งเป็นการบ่มเพาะอัตตาของครู ให้ทำอะไรโดยไม่ต้องเกรงใจเด็กหรือคำนึงถือศีลธรรม การใช้อำนาจเหนือกว่าแลกกับการให้เกรดจึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ไม่ปกติ ขณะที่เด็กก็ยอมตาม
ขณะที่เราบ่นถึงการยึดติดกับวิธีการสอนแบบให้ท่องจำมากกว่าการใช้ความคิด วิธีที่สอนแบบไม่เปิดโอกาสให้ตีความต่าง เพราะเกรงจะกระเทือนกับอะไรก็ไม่รู้นั้น ทำให้เด็กเกรงจะถูกเพื่อนล้อว่าบ้า ว่านอกคอก ในขณะที่สังคมตะวันตกต่อให้หนังสือเล่มนั้นชื่อดังเพียงใด ใครจะเป็นคนแต่ง เด็กมักถูกปลุกเร้าให้กล้าตีความใหม่กับตัวละคร และกับผู้ที่เคยมีอยู่จริง แต่ในไทยที่แม้แต่หัวโขนยักษ์ยังไม่กล้าลบหลู่ หรือชื่อชั้นของคนในอดีตเป็นสิ่งที่เด็กถูกสอนให้ยำเกรง ทำให้การคิดนอกกรอบเป็นเรื่องที่ยาก
การปฏิรูปการศึกษาแม้ว่าจะเป็นเรื่องยากในหลายเรื่อง ทั้งงบประมาณ การบริหารจัดการและอื่นๆ แต่เชื่อว่าไม่เหลือกำลังความสามารถของผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารสถานศึกษา แต่ที่ยากก็คือ การทำอย่างไรกับความงมงายที่ต้องจำกัดให้อยู่ในขอบเขตของความเป็นกุศโลบาย ให้คุณแก่การศึกษา โดยไม่จำกัดกรอบความคิด หรือสร้างความกลัวความเสื่อมแก่เด็ก บางทีการลดพิธีกรรมลงบ้าง เติมเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ลงไป และอบรมผู้ใหญ่ให้เข้าใจหลักความเท่าเทียมกันของสมาชิกในสังคมยุคใหม่ อาจพอช่วยได้บ้าง
ที่มา กรุงเทพธรุกิจ