ครูเตรียมเฮได้พักชำระหนี้1-2 ปี
"กำจร"เผย รมว.ศธ.หารือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เล็งพักชำระหนี้ครู 1-2 ปี พร้อมจัดอบรมสร้างวินัยทางการเงินให้ หลังพบครูมีปัญหาพฤติกรรมการใช้จ่าย
วันนี้ (23 มิ.ย.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศธ. พร้อมผู้บริหาร ศธ.ได้หารือเรื่องปัญหาหนี้สินครูร่วมกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี โดยมีแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินครู อาทิ การพักชำระหนี้ระยะเวลา 1-2 ปี การรวมหนี้สินเอาไว้ทีเดียว ทั้งนี้ จะต้องเป็นหนี้กับธนาคารออมสิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ขณะเดียวกันทางธนาคารออมสินจะเข้ามาช่วยสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ครู โดยจัดอบรมให้ความรู้ เพื่อให้ครูมีวินัยในการใช้จ่ายเงินมากขึ้น รวมทั้งแนะนำให้ครูจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อที่ครูจะได้รู้รายรับรายจ่ายของตนเองในแต่ละเดือน ซึ่งหลักการดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแล้ว ส่วนรายละเอียด ศธ.จะต้องมีการประสานกับกระทรวงการคลัง เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการแก้ปัญหาต่อไป
“ ตัวเลขหนี้สินครูขณะนี้ยังไม่นิ่ง เพราะครูมีการกู้ยืมเงิน และชำระหนี้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งการปล่อยกู้จากแหล่งต่างๆให้ครูสามารถกู้ยืมเงินได้มากและง่ายขึ้น ก็ยิ่งสร้างหนี้สินครูให้มากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ การที่ครูเป็นหนี้สินจำนวนมาก ก็มีปัจจัยมาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของครู จึงเป็นสิ่งที่เราต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ อย่างไรก็ตามระบบสัญญาเงินกู้ของประเทศไทยจะเป็นระบบสัญญาที่ผูกมัดลูกหนี้ เช่น จะต้องชำระหนี้ทุกงวด และการล้างหนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคาร เป็นต้น ดังนั้น จะต้องมีการหารือกับธนาคารออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูถึงแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้ครู ในรูปแบบต่างๆอย่างละเอียดอีกครั้ง ” ปลัด ศธ.กล่าว.
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 มิถุนายน 2558
Advertisement
ครูเฮ!ศธ.พักชำระหนี้1-2 ปีแก้ปัญหาหนี้สิน
ครูเฮ! ศธ.สรุปมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครู พักชำระ1-2ปี และรวมหนี้ไว้ที่เดียว เฉพาะของธ.ออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการพร้อมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้หารือเรื่องถึงแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แนวทางแก้ปัญหา คือ การพักชำระหนี้ ระยะเวลา1-2ปี และให้มีการรวมหนี้สินเอาไว้ทีเดียวโดยต้องเป็นหนี้ที่กู้ยืมจากธนาคารออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ขณะเดียวกัน จะต้องสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ครูด้วยซึ่งทางธนาคารออมสินจะเข้ามาดูแลทั้งการจัดอบรมให้ความรู้ เพื่อให้ครูมีวินัยในการใช้จ่ายเงินมากขึ้น รวมทั้งแนะนำให้ครูจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อที่ครูจะได้รู้รายรับรายจ่ายของตนเองในแต่ละเดือน ซึ่งหลักการดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแล้ว ส่วนรายละเอียดว่าครูกลุ่มใดจะเข้าเกณฑ์การพักชำระหนี้ หรือการรวมหนี้ต้องทำอย่างไรนั้น เร็วๆ นี้ ศธ.จะประสานกับกระทรวงการคลัง เพื่อหารือและวางหลักเกณฑ์ต่อไป
“ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าจำนวนหนี้สินครูมีเท่าไร เพราะครูมีการกู้ยืมเงินและใช้หนี้อยู่ตลอดเวลาและมีการปล่อยกู้จากแหล่งต่างๆให้ครูสามารถกู้ยืมเงินได้มากขึ้นก็ยิ่งเป็นการสร้างหนี้สินครูให้มากขึ้นตามไปด้วยโดยจากการประเมินเบื้องต้นหนี้สินครูทั้งระบบในส่วนของเงินต้นมีประมาณ1 ล้านล้านบาท ซึ่งการที่ครูเป็นหนี้สินจำนวนมากก็มีปัจจัยมาจากพฤติกรรมของครู จึงเป็นสิ่งที่เราต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ อย่างไรก็ตาม ระบบสัญญาเงินกู้ของประเทศไทยเป็นระบบสัญญาที่ผูกมัดลูกหนี้ เช่น จะต้องชำระหนี้ทุกงวดและการล้างหนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคาร เป็นต้น ดังนั้น จะต้องมีการหารือกับธนาคารออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูถึงแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้ครูอื่นๆได้หรือไม่ เช่น ใช้ระบบรีไฟแนนซ์ เป็นต้น”ปลัด ศธ.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้กลุ่มเครือข่ายครูผู้ประสบปัญหาหนี้สินขั้นวิกฤติ เคยยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้เข้ามาดูแลกรณีที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับผลกระทบจากภาระหนี้สินขั้นวิกฤติ ซึ่งนายกฯ ได้มอบหมายให้ ศธ.ดำเนินการโดยการวางแก้ปัญหาซึ่งเบื้องต้น วางแผนกำหนดมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน อาทิ การพักหนี้การหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่มีเงื่อนไขว่าต้องไปทดแทนหนี้เดิมไม่ใช่การสร้างหนี้ใหม่
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 มิถุนายน 2558