สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ทำหนังสือเวียนแจ้งเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA) หรือ ว7/2558 ให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทราบแล้ว
เป็นเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะล่าสุด และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อยากเห็นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาทั้งระบบไปด้วยกัน ไม่ใช่ครูได้เงินค่าตอบแทน แต่ผลสัมฤทธิ์ของเด็กไม่ขยับ
ขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ.เร่งจัดทำคู่มือการประเมินสำหรับคณะกรรมการประเมิน ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม สำหรับส่วนราชการที่มีสถานศึกษาในสังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่กำกับดูแลวิทยาลัยชุมชน ก็ต้องเร่งจัดทำหลักสูตรทดสอบความรู้ความสามารถเชิงทฤษฎีและการประเมินประสบการณ์วิชาชีพ เสนอสำนักงาน ก.ค.ศ.ภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ เพื่อสำนักงาน ก.ค.ศ.วิเคราะห์ก่อนนำเสนอคณะกรรมการ ก.ค.ศ.พิจารณาเห็นชอบราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม
นางสุจิตรา พัฒนะภูมิ รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้ข้อมูลว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้ง 4 สาย ได้แก่ สายงานการสอน สายงานบริหารสถานศึกษา สายงานบริหารการศึกษา และสายงานนิเทศการศึกษา สามารถยื่นขอรับการประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญได้ โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณสมบัติสำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ 151,794 ราย และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ 167,917 คน แต่ผู้ที่จะยื่นขอรับการประเมินได้จะต้องผ่านการทดสอบหลักสูตรฯจากส่วนราชการต้นสังกัดก่อน ซึ่งส่วนราชการจะเปิดให้มีการทดสอบความรู้ ความสามารถและประเมินประสบการณ์วิชาชีพ และประกาศผลภายในวันที่ 1 กันยายน-31 ตุลาคม 2558
ผู้ขอรับการประเมินจะเริ่มพัฒนางานตามข้อตกลงเมื่อเปิดภาคเรียนที่ 1/2559 รวมระยะเวลา 2 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี สิ้นสุดประมาณการพัฒนางานประมาณวันที่ 16 พฤษภาคม 2561
ส่วนสาเหตุที่เกณฑ์นี้ไม่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษนั้น นางสุจิตราระบุว่า เพราะหลักเกณฑ์นี้เพิ่งเริ่มใช้ จึงต้องทดสอบดูก่อนว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการยกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งระบบได้หรือไม่ อีกทั้งต้องใช้งบประมาณสูง เพราะตั้งคณะกรรมการประเมิน 2 ชุด คณะกรรมการชุดแรกประเมินพิจารณาตัดสินข้อตกลงในการพัฒนางานที่ผู้ขอรับการประเมินนำเสนอ จากนั้นทำหน้าที่ประเมินเป็นระยะๆ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาก็ต้องประเมินอีกครั้งว่าผ่านหรือไม่ผ่าน โดยรวมต้องประเมินอย่างต่ำ 4 ครั้งใน 2 ปี ส่วนคณะกรรมการอีกชุดทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ผู้รับการประเมินและดูแลตลอด 2 ปี ประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษต่อผู้ขอ 1 ราย อยู่ที่ 51,000 บาท ส่วนวิทยฐานะเชี่ยวชาญอยู่ที่ 99,000 บาทต่อราย วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่/อ.ก.ค.ศ.ที่ ก.ค.ศ.หรือ สพฐ.แล้วแต่กรณี พิจารณาอนุมัติราวดือนตุลาคม-ธันวาคม 2561 ส่วนวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ก.ค.ศ.เป็นผู้อนุมัติประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2561 จากนั้น อ.ก.ค.ศ.สั่งแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ส่งเอกสารสรุปผลการพัฒนางานฯ
เอาใจเพื่อนครู ขอให้ผ่านทดสอบความรู้ฯ ซึ่งเป็นด่านแรก จะได้มีสิทธิยื่นขอรับการประเมินได้ และถ้าผลพัฒนางานผ่าน ก็จะช่วยยกผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาทั้งระบบ แล้วพบข่าวสารดีๆ ครั้งหน้าค่ะ...
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 24 มิ.ย. 2558 (กรอบบ่าย)