อ้างผิดพลาดทางบัญชี 5 แสนกว่าเล่ม ผลสอบหนังสือเรียนองค์การค้าฯหาย ชง'บิ๊กเข้' คาดตั้งกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ 'สมมาตร์-ปธ.สหภาพ'ยันหนัง สือไม่หาย 'ผู้ตรวจ ศธ.' ปัดวิ่งเต้นติดสินบน
กรณีปัญหาการบริหารงานภายในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) สร้างความเสียหายแก่องค์กร โดยล่าสุดมีข้อมูลหนังสือเรียนขององค์การค้าของ สกสค. ตั้งแต่ปี 2556-2557 จำนวน 1,178,764 เล่ม คิดเป็นเงิน 68,597,656 บาท โดยหนังสือดังกล่าวได้เช่าเครื่องพิมพ์ของสำนักงานพิมพ์ "ศ" ในการจัดพิมพ์ หายใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาไทย โดยพบว่าจำนวนหนังสือที่ส่งเข้าคลังสินค้ากับจำนวนที่สั่งพิมพ์ไม่ตรงกัน ซึ่งนายสุเทพ ชิตยวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบนั้น
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ทราบเรื่องหนังสือขององค์การค้าฯหายแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าหายจริงหรือไม่ เพราะผลสอบข้อเท็จจริงยังไม่ออกมา คาดว่าจะมีการหารือเรื่องดังกล่าวในวันที่ 23 มิถุนายน ส่วนหากผลสอบออกมาแล้วปรากฏว่ามีหนังสือหายจริง จะต้องมีการพิจารณายกเลิกสัญญาจ้าง นายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารในช่วงนั้นหรือไม่นั้น ต้องดูก่อนว่าฐานความผิดคืออะไร ก็คงต้องว่ากันไปตามกระบวนการ
รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่เข้ามาดูแลปัญหาการทุจริตภายใน สกสค. สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และองค์การค้าของ สกสค.เองนั้น เป็นเพราะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ตนมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการ 3 องค์กร จึงคิดว่าน่าจะเข้ามาดูแลด้วยตัวเอง จากเดิมที่ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ดูแลอยู่ และเวลามีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับ 3 หน่วยงานเข้ามา ก็จะได้สั่งการได้ทันที โดยที่ พล.อ.สุรเชษฐ์ไม่ต้องนำมาส่ง อีกทั้ง พล.อ.สุรเชษฐ์เองก็จะได้ไม่ลำบากใจ ส่วนข้อร้องเรียนของทั้ง 3 หน่วยงานที่เคยส่งผ่าน พล.อ.สุรเชษฐ์ ในช่วงที่ดูแลทั้ง 3 องค์กรนั้น ตามปกติหากมีเรื่องใดร้องเข้ามา พล.อ. สุรเชษฐ์จะทำสำเนาส่งให้ตนทราบอยู่แล้ว รู้มาตลอดว่าที่ผ่านมามีการร้องเรียนอะไรบ้าง ทั้งองค์การค้าฯ สกสค. และคุรุสภา ซึ่งมีมาประจำ ก็ได้รับทราบก่อนที่ พล.อ.สุรเชษฐ์จะเป็นคนสั่งการให้หน่วยงานที่ได้รับร้องเรียน เข้าไปตรวจสอบ
ด้านนายอารีย์ สืบวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของ สกสค. กล่าวว่า นายสุเทพ ชิตยวงษ์ ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ แจ้งให้เจ้าหน้าที่องค์การค้าฯตรวจสอบหนังสือจำนวน 1.2 ล้านเล่มว่าหายหรือไม่ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมามีการตรวจเอกสารบัญชีของคลังสินค้าพบเอกสารการโอนหนังสือแล้ว 60% หรือประมาณ 600,000 เล่ม ส่วนอีก 30-40% อาจเป็นไปได้ว่าหนังสือยังอยู่ที่สำนักพิมพ์ ยังไม่ได้โอนมา เนื่องจากคลังสินค้ามีพื้นที่จำกัด ที่ผ่านมาจึงต้องพักหนังสือไว้ที่สำนักพิมพ์ และบางส่วนสำนักพิมพ์อาจยังไม่ได้ทำเอกสารการโอน เรื่องนี้ต้องตรวจสอบ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าหนังสือไม่หาย เพราะยังอยู่ในกระบวนการ ส่วนที่ถามว่าตรวจแต่เอกสาร ไม่นับจำนวนหนังสือจริงนั้น จะต้องมีการนับหนังสือในสต๊อกคลังสินค้าและสำนักพิมพ์อยู่แล้ว ปกติหน่วยตรวจสอบภายในและฝ่ายบัญชี เป็นคนนับ ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
"ปีนี้พิมพ์หนังสือมากกว่าทุกปีโดยพิมพ์ 54 ล้านเล่ม จากปกติ 40 ล้านเล่ม เป็นยอดจากการตั้งเป้าการผลิต เมื่อพิมพ์หนังสือมาก จึงต้องพักหนังสือไว้ที่สำนักพิมพ์ก่อนโอนให้คลังสินค้า มีการทำเอกสารการโอนแล้วโอนกันตามหลัง เชื่อว่าหนังสือไม่หายเพราะการขนหนังสือออกจากคลัง มีกระบวนการตรวจสอบหลายขั้นตอนก่อนจะไปถึงขั้นตอนชั่งน้ำหนักรถที่ขนหนังสือออก และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ตรวจเป็นจุดสุดท้าย" นายอารีย์กล่าว และว่า มีความพยายามที่จะให้เลิกจ้างนายสมมาตร์มาตลอด จึงไม่แน่ใจว่าการปล่อยข่าวหนังสือหาย ต้องการหาเหตุมาเลิกจ้างนายสมมาตร์หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา คสช.สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่กับนายสมมาตร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้ามาตรวจสอบ คตร.ตั้งคณะทำงาน 3 ชุดเข้ามาตรวจสอบองค์การค้าฯ ประกอบด้วย คณะทำงานตรวจเอกสารและระเบียบข้อบังคับ คณะทำงานด้านข้อเท็จจริงและคณะทำงานพิจารณาว่าบกพร่องด้านใด แต่คณะทำงานของ คตร.ยังไม่พบประเด็นตามที่มีผู้ร้องเรียน จึงอยากเร่งให้ คตร.ชุดใหญ่สรุปผลเพราะเวลาผ่านมา 2 เดือนแล้ว
ทนายความของนายสมมาตร์ ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อกล่าวว่า นายสมมาตร์ยืนยันว่าหนังสือเรียนไม่หาย ขณะนี้ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักที่เกี่ยวข้องทำเอกสารให้ตนชี้แจงสื่อ ส่วนกรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของนายสมมาตรใหม่ หลังการประเมิน 2 ครั้งโดยอดีตคณะกรรมการ สกสค.ให้ผ่าน แต่อดีตคณะกรรมการ สกสค.พ้นตำแหน่งไปแล้ว จึงต้องตั้งคณะกรรมการประเมินใหม่นั้น นายสมมาตร์น้อมรับแต่ขอให้ประเมินภายใต้สัญญาจ้าง ส่วนกรณีกล่าวหาว่าเช่าแท่นพิมพ์เอกชนแพงกว่าราคากลางและไม่เป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของกรมบัญชีกลางนั้น นายสมมาตร์ระบุว่า ชี้แจงได้ ขณะนี้กำลังรวบรวมเอกสารที่เคยชี้แจง พล.อ.สุรเชษฐ์มาชี้แจง ศธ.และสื่ออีกครั้ง นายสมมาตร์ยืนยันความโปร่งใสตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน
แหล่งข่าวใกล้ชิดผู้บริหารองค์การค้าฯกล่าวว่า กรณีที่ นพ.กำจรห่วงใยการตรวจสอบองค์การค้าฯ เพราะปัญหาทุจริตที่เกิดกับองค์การค้าฯมีมูลค่ามาก อาจมีการติดสินบนหรือผู้เสียผลประโยชน์อาจใช้อิทธิพลข่มขู่นั้น นายสุเทพรู้สึกขอบคุณที่ห่วงใย ขณะนี้อยู่ท่ามกลางทุกคนที่เสียผลประโยชน์ แต่ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยกับนายสุเทพเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสุเทพบอกว่ายังพูดไม่ได้ ต้องขอปรึกษาผู้ใหญ่ก่อน
นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการ ศธ.ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. กล่าวถึงกรณีที่ นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ.ห่วงใยการทำงานเพราะปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นกับ สกสค.มีมูลค่ามาก อาจมีการติดสินบนและผู้เสียผลประโยชน์อาจจะใช้อิทธิพลข่มขู่นั้นว่า ยืนยันเต็มปากว่ายังไม่มี ส่วนเรื่องข่มขู่ ตอบไม่ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มี ตั้งแต่รับราชการมายังไม่เคยมีและไม่คิดจะทำด้วย
เมื่อถามว่าถ้าต่อไปมีใครมาติดสินบน นายพินิจศักดิ์กล่าวว่า จะรายงานรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และปลัด ศธ.ทราบทันที สำหรับความคืบหน้ากรณี สกสค.นำเงินกองทุนเงินสนับสนุน พิเศษฯ ช.พ.ค.ไปซื้อหุ้นบริษัทหนองคายน่าอยู่ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชนบ้านป่าตอง ต.โพนสว่าง อ.เมือง จ.หนองคาย วงเงิน 800 ล้านบาทนั้น จะรายงานความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องนี้ให้คณะกรรมการ สกสค.ที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธานทราบในวันที่ 23 มิถุนายน ซึ่งจะรายงานไปตามเอกสารว่ามีการตั้งเงื่อนไขและการจ่ายเงินอย่างไร ส่วนที่ถามว่า สกสค.จ่ายจริงแค่ 320 ล้านบาทหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้เพราะยังไม่ได้สอบถามฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
แหล่งข่าวจาก ศธ.คนหนึ่งกล่าวว่า กรณีที่ นพ.กำจรยอมรับว่ามีหนังสือเรียนหายจริง และเคยเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่มีผู้ร้องเรียนว่ามีการเช่าแท่นพิมพ์เอกชนในราคาสูงนั้น จากการตรวจสอบพบว่าในสัญญาเช่าเครื่องพิมพ์พร้อมซอฟต์แวร์ระบบบริหารการพิมพ์และเครื่องจักรผลิตเล่ม ขององค์การค้าฯกับสำนักพิมพ์ "ศ" ในการจัดพิมพ์หนังสือเรียนใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาไทย มีราคาดังนี้ 1.ค่าเช่าเครื่องจักรทางการพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่น ราคา 0.40 บาทต่ออิมเพรสชั่น หรือ 1 รอบการพิมพ์ 2.ค่าเช่าเครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนม้วน ราคา 0.40 บาทต่ออิมเพรสชั่น 3.ค่าเช่าเครื่องทำเล่มไสสันทากาว ราคา 1.00 บาทต่อเล่ม อย่างไรก็ตามสำหรับปี 2556 มียอดพิมพ์ 250,000,000 หน้า หรือ 25 ล้านเล่ม และปี 2557 ยอดพิมพ์ 300,000,000 หน้า หรือ 30 ล้านเล่ม
แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวอีกว่า มีการรายงานเรื่องตรวจสอบหนังสือช่วงวันที่ 20-21 มิถุนายนที่ผ่านมาให้ พล.ร.อ.ณรงค์ทราบเบื้องต้นแล้ว ซึ่งมีการระบุว่า "เป็นการผิดพลาดทางการลงบัญชี 5 แสนกว่าเล่ม มูลค่าประมาณ 40 กว่าล้านบาท" โดยคาดว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านการบัญชีที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่าการเลี่ยงใช้คำว่าผิดพลาดทางการลงบัญชี แทนคำว่าหนังสือหาย จะมีผลทำให้ไม่สามารถไปแจ้งความดำเนินดคีทางกฎหมายได้
ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า ป.ป.ท.ลงมติลับชี้มูลทุจริตนายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และนายชินภัทร ภูมิรัตน อดีตเลขาธิการ กพฐ. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 กรณีล็อกสเปกห้องเรียน e-classroom ปีงบประมาณ 2555 และ 2556 ว่า ป.ป.ท.ไม่ได้มีมติลับลงความเห็นชี้มูลในกรณีที่ปรากฏแต่อย่างใด เนื่องจาก ป.ป.ท.ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการชี้มูลความผิดกับบุคคลดังกล่าว ดังนั้นขอยืนยันว่ากระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 24 มิ.ย. 2558 (กรอบบ่าย)