การศึกษาไทย เราโง่อย่างมีหลักการ
โดย สุกรี เจริญสุข
นสพ.มติชนรายวัน
ในปีการศึกษา 2557 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้กระตุ้นในการเตรียมตัวเพื่อเปิดรับการศึกษาของอาเซียน โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนเวลาเปิดปิดภาคการศึกษาจะช่วยให้มหาวิทยาลัยไทยมีความ ทันสมัยขึ้น กล่าวคือ เปิดภาคการศึกษาแรกปลายเดือนสิงหาคม สิ้นสุดในเดือนธันวาคม และเปิดภาคเรียนที่สองอีกทีกลางเดือนมกราคม และสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม โดยใช้เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมเป็นการปิดภาคฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูการศึกษาของญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา
หากพิจารณาให้ดี ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ไทยเรา ได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งมาช้านาน เขาถูกเปลี่ยนระบบการศึกษา เปลี่ยนระบบนับวันเดือนปีปฏิทินเป็นคริสต์ศักราช เปลี่ยนแปลงความเชื่อ ศาสนา ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นระบบฝรั่งไปก่อนแล้ว เพราะถูกบังคับให้เป็นไปตามวัฒนธรรมของผู้ปกครองที่มีอำนาจเหนือกว่า
เหลือ ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่ยังใช้ระบบดั้งเดิมของตัวเองคือ มีดวงอาทิตย์ดวงเดิม อาศัยแม่น้ำสายเดิม อาศัยพายุไต้ฝุ่นลูกเดิม ใช้ดวงจันทร์มีข้างขึ้นข้างแรมเหมือนเดิม ยังกินข้าวและกับข้าวเหมือนปู่ย่าตายายดั้งเดิม พระก็ยังเข้าพรรษาเวลาเดิม
วันดีคืนดีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยนึกอุตริเปลี่ยนแปลงเวลาเรียนของนัก ศึกษาเพื่อจะให้ใช้ระบบเหมือนฝรั่งเขา โดยเชื่อว่า "ตามเขาว่าเก่ง ทำเองว่าโง่" เมื่อเราโง่อย่างมีหลักการ โดยใช้ความฉลาดในเรื่องโง่ๆ ทำให้การศึกษาชาติตกต่ำและล้มเหลวอย่างเป็นระบบ ไม่สามารถที่จะเป็นตัวของตัวเองได้ ไม่เชื่อถือแม้แต่ตัวเอง ยอมตามก้นฝรั่งเขา
แม้กระทั่งยอมขัดแย้งกับธรรมชาติและขัดแย้งกับวิถีชีวิตของตัวเอง
ปู่ย่าตายายคนดั้งเดิมนั้นอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับดินน้ำลมไฟ อยู่กับดวงอาทิตย์ อยู่กับดวงจันทร์ อยู่กับต้นไม้ใบหญ้า เขาเรียนรู้ปรับตัวอยู่กับธรรมชาติ แล้วใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต รู้เวลาน้ำท่วม รู้เวลาแดดร้อน เรียนรู้และปรับวิถีชีวิตว่าจะต้องทำอย่างไร โดยไม่ต้องไปหาความรู้ที่โรงเรียน ครั้นมีมหาวิทยาลัยซึ่งถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นสูงของชาติ กลับไปลบหลู่ไม่เคารพความรู้ของปู่ย่าตายายคนดั้งเดิมเสียสิ้น ยอม "ซื้อความสำเร็จมาใช้" โดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การศึกษาไทยจึงหายนะ
เอาแค่สถาบันอุดมศึกษาเปิดปิดเทอมตามระบบอาเซียน ในขณะที่ระบบประถมศึกษาและมัธยมศึกษายังเปิดปิดเทอมแบบไทยเดิมอยู่ แค่นี้ก็อนาถมากแล้ว ทำไมการศึกษาไทยเด็กไปโรงเรียนแล้วโง่มากขึ้น ทำไมการศึกษาไทยเด็กไปโรงเรียนแล้วจนมากขึ้น ทำไมการศึกษาไทยเด็กไปโรงเรียนแล้วชั่วมากขึ้น ก็เพราะวิธีคิดที่ตามเขาว่าเก่งทำเองว่าโง่ อาศัยความฉลาดในเรื่องโง่ๆ โดยยอมรับความโง่อย่างมีหลักการ โดยสิ้นคิด
เมื่อมหาวิทยาลัยไทยเปิด ปิดเทอมตามระบบอาเซียน แต่ระบบประถมศึกษาและมัธยมศึกษายังเปิดปิดเทอมแบบไทยเดิม อาจจะเป็นเพราะระบบประถมและมัธยมเห็นว่า "อาเซียน" มีฐานะเป็นน้องของพ่อ ซึ่งชื่อว่า "เซียม" (Siam) แน่นอนว่าพ่อนั้นใหญ่กว่าอา จึงไม่ยอมเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาตามมหาวิทยาลัย จึงเกิดความตลกที่หัวเราะไม่ออกว่า การศึกษาไทยใช้สมองส่วนไหนตัดสินใจกัน
ประถม และมัธยมจัดการศึกษาไปทางหนึ่ง ส่วนอุดมศึกษาก็จัดการศึกษาไปอีกทางหนึ่ง หรือการศึกษาเปิดโอกาสให้มีความหลากหลาย เพื่อทำให้เกิดความเจริญงอกงาม ใครจะเปิดปิดแบบไหน เวลาใด ก็เชิญทำได้ตามสะดวก
ที่ประชุมอธิการบดี แห่งประเทศไทยเป็นกลุ่มคนที่มีอาชีพเป็นอธิการบดีจัดพบปะสังสรรค์กัน เรียกตัวว่า "ที่ประชุม" ซึ่งเป็นที่ประชุมที่ไม่มีกฎหมายอะไรรองรับ เป็นกลุ่มบำบัด (Group Therapy) ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีงานทำ มีอาชีพประชุม เมื่อเลิกประชุมก็จับกลุ่มประชุมต่อ ส่วนหนึ่งก็เป็นกลุ่มที่ต้องการอยู่ในตำแหน่งนานๆ อีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นพวกที่จะหลุดจากตำแหน่ง ทั้ง 2 กลุ่มก็ตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อบำบัดความรู้สึกส่วนตัว สร้างความสำคัญให้กับพวกตัว (อธิการบดีทั้งหลาย) ที่สำคัญก็คือต้องการสร้างอำนาจคานอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่กลุ่มอธิการบดีก็ไม่เชื่อฟัง
การแสดงอำนาจที่เด่นชัดก็คือการเลื่อนเปิดปิดภาคการศึกษา ซึ่งก็กระทำโดยคนในกลุ่มที่ประชุมอธิการบดีนี้
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาก็เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง มีอำนาจ แต่ไม่สามารถชี้นำ ชี้ทิศทาง หรือจะบังคับบัญชาจัดการทำอะไรกับอธิการบดีของมหาวิทยาลัยได้ เพราะสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีความอ่อนแอ ทำหน้าที่เพียงประสานงาน รับรู้ รับทราบ และส่งต่อ มีอำนาจเชิงเสมียน แต่ไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการแต่อย่างใด งานทั้งหมดตกอยู่ที่มหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัย
เมื่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยประกาศเลื่อนการเปิดปิดภาคเรียน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาก็ได้แต่แบ๊ะๆ
เมื่อ วันที่ 7 มิถุนายน 2558 ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) แถลงผลการประชุมสัมมนาวิชาการ ที่ประชุมได้เสนอให้ "ยกเลิก" การเปิดปิดภาคเรียนตามประเทศในกลุ่มอาเซียน เพราะส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาอย่างมาก อ้างว่าอากาศร้อน ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ เสียค่าไฟสูง เดือนเมษายนมีวันหยุดมาก ทำให้การเรียนการสอนไม่เต็มที่ และเปิดปิดไม่ตรงกับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
วัน ที่ 16 มิถุนายน 2558 เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษายืนยันไม่ทบทวนการเปิดปิดภาคเรียน ยังคงดำเนินต่อไปตามการเปิดปิดของอาเซียน เพราะอากาศของไทยเดือนไหนๆ ก็ร้อน นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาด้านจราจรได้อีกด้วย ทั้งนี้ได้หารือกับรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วยแล้ว ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ใครใหญ่กว่าใคร ใครทำหน้าที่อะไร หรือใครมีอำนาจที่แท้จริงในการตัดสินใจ
ประเทศไทยมีประชาธิปไตยล้น ใครจะตั้งหน่วยงานอะไรก็ได้ น่าสนใจว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ทำอะไร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทำอะไร ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทยทำอะไร แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทำอะไร แถมยังมีสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ซึ่งมีหน้าที่จัดสอบเข้า รับเงินค่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยไทย สภามหาวิทยาลัยต่างๆ ทำอะไรกัน ในที่สุดผู้ปกครองและประชาชนก็สับสน ไม่รู้จะฟังใคร เพราะมีหน่วยงานการศึกษาเต็มไปหมด
การศึกษาไทยตกต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไม่ทำงาน ทุกคนอยู่แต่ในห้องประชุม ทำงานกับกองกระดาษ คนส่วนใหญ่รู้แต่ไม่ชี้ ปล่อยให้การศึกษาดำเนินไปตามยถากรรม ตกอยู่ในมือของเสมียน มีเสมียนเป็นใหญ่ คอยสร้างหลักการ สร้างระเบียบ ผู้มีอำนาจมีอาชีพประชุม ประชุมเสร็จก็หอบกระดาษเข้าห้องประชุมใหม่ คอยแต่ชื่นชมความเป็นอื่น ไม่ได้ชื่นชมความเป็นฉัน
ในที่สุดการศึกษาไทยจึงโง่อย่างมีหลักการ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ