เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นางสุจิตรา พัฒนะภูมิ รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยความคืบหน้าหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือ Performance Agreement (PA) ว่า หลังหลักเกณฑ์นี้ผ่านความเห็นชอบจาก ก.ค.ศ.และได้ทำหนังสือเวียนแจ้ง ว7/2558 แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำคู่มือการประเมินฯ PA ซึ่งเป็นคู่มือสำหรับคณะกรรมการประเมิน และต้องเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม ขณะเดียวกันภายในวันที่ 30 มิถุนายน ทุกส่วนราชการที่มีสถานศึกษาในสังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่กำกับดูแลวิทยาลัยชุมชน ต้องยื่นหลักสูตรทดสอบความรู้ความสามารถเชิงทฤษฎีและการประเมินประสบการณ์วิชาชีพต่อสำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อวิเคราะห์หลักสูตรก่อนเสนอ ก.ค.ศ.ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป
"ทั้ง 4 สาย ได้แก่ สายงานการสอน สายงานบริหาร สถานศึกษา สายงานบริหารการศึกษา และสายงานนิเทศการศึกษา สามารถยื่นขอรับการประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณสมบัติสามารถยื่นขอรับการประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษได้ จำนวน 151,794 ราย และครูและบุคลากรที่มีคุณสมบัติยื่นขอรับการประเมินวิทยฐานะเชี่ยวชาญได้ จำนวน 167,917 คน ทั้งนี้ ผู้ที่จะยื่นขอรับการประเมิน ต้องผ่านหลักสูตรทดสอบความรู้ฯจากส่วนราชการต้นสังกัดก่อน จึงจะมีคุณสมบัติยื่นขอรับการประเมินฯ PA หรือ ว7/2558 ได้ โดย ส่วนราชการจะทดสอบความรู้ฯ และประกาศผลในวันที่ 1 กันยายน-31 ตุลาคมนี้" นางสุจิตรากล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมหลักเกณฑ์นี้ถึงไม่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ นางสุจิตรากล่าวว่า หลักเกณฑ์นี้เพิ่งเริ่มใช้ จึงต้องทดสอบก่อนว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการยกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งระบบได้หรือไม่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการยกผลสัมฤทธิ์ทั้งระบบไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารการศึกษา ภายใน 2 ปี ไม่ใช่ครูได้ผลงาน แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่ดีขึ้น โดย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. มีนโยบายว่าผลสัมฤทธิ์ทั้งระบบต้องมาก่อนประโยชน์ของครู อีกสาเหตุที่หลักเกณฑ์นี้ยังไม่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ เพราะต้องใช้งบประมาณสูงมาก โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาประเมิน 2 ชุด ชุดแรกประเมินพิจารณาตัดสินข้อตกลงในการพัฒนางานที่ผู้ขอรับการประเมินนำเสนอ จากนั้นประเมินเป็นระยะๆ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลา ต้องประเมินอีกครั้งว่าผ่านหรือไม่หนังสือพิมพ์มติชนรายวันผ่าน โดยรวมต้องประเมินทุกภาคเรียน อย่างน้อยภาคละ 1 ครั้ง หรือประเมินอย่างต่ำ 4 ครั้ง ภายใน 2 ปี โดยคณะกรรมการชุดนี้จะได้เงินค่าประเมิน ส่วนคณะกรรมการอีกชุดทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ขอรับการประเมิน และดูแลตลอด 2 ปี คณะกรรมการชุดนี้จะได้ค่าเบี้ยประชุมตอบแทน
"ค่าใช้จ่ายในการประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ส่วนราชการต้นสังกัดเป็นผู้รับผิดชอบ ประมาณการค่าใช้จ่ายในการประเมินต่อผู้ขอ 1 ราย อยู่ที่ 51,000 บาท ส่วนการประเมินเชี่ยวชาญ สำนักงาน ก.ค.ศ.เป็นผู้รับผิดชอบ ประมาณการอยู่ที่ 99,000 บาทต่อราย สำหรับคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนั้น ส่วนราชการ/เขตพื้นที่ฯจะทยอยเสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิให้ ก.ค.ศ.ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงวันที่ 31 สิงหาคม โดย ก.ค.ศ.จะพิจารณาเห็นชอบบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ระหว่างวันที่ 1 กันยายน-31 ธันวาคมนี้ ส่วนวิทยฐานะเชี่ยวชาญทยอยอนุมัติตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-31 ตุลาคมนี้" นางสุจิตรากล่าว
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 23 มิ.ย. 2558 (กรอบบ่าย)