การศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูที่คุรุสภารับรอง ซึ่งเดิมกำหนดให้เป็นแนวทางหลักแนวทางหนึ่งสำหรับผู้ที่จบสาขาวิชาอื่นสามารถศึกษาต่อยอด โดยจะศึกษาเฉพาะวิชาชีพครูตามมาตรฐาน และปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถใช้คุณวุฒิในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ เนื่องจากในพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 กำหนดไว้ว่า วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพควบคุม ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพควบคุมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และกำหนดเฉพาะที่เป็นการประกอบวิชาชีพควบคุมในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา ทั้งของรัฐและเอกชน
ปัจจุบัน คุรุสภาให้การรับรองประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูของสถาบัน และให้เปิดรับเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพครูในหน่วยงานต้นสังกัดต่างๆ ที่ยังไม่มีคุณวุฒิปริญญาทางการศึกษา โดยคณะกรรมการคุรุสภาในการประชุมครั้งที่ 7/2558 วันที่ 11 พฤษภาคม 2558 มีมติให้การรับรองประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการบริหารการศึกษา 4 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู 49 หลักสูตร ของมหาวิทยาลัย จำนวน 48 แห่ง เพื่อพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในสังกัดต่างๆ ที่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยให้สถาบันจัดการเรียนการสอนเฉพาะในที่ตั้งเท่านั้น เก็บค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร ภายในวงเงินไม่เกิน 35,000 บาท ยกเว้นหลักสูตรนานาชาติของวิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา กำหนดภายในวงเงินไม่เกิน 70,000 บาท และรับนักศึกษาตามจำนวนที่คุรุสภาให้การรับรอง โดยรวมทุกสถาบันแล้ว สามารถรับนักศึกษาได้จำนวน 7,560 คน โดยคุรุสภาได้กำหนดคุณสมบัติผู้ประกอบวิชาชีพครูที่จะเข้าศึกษา ป.บัณฑิต ประจำปี 2558 ดังนี้ 1) มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในเอกสารหลักสูตรที่เสนอขอรับรองจากคุรุสภา 2) มีรายชื่ออยู่ในการสำรวจของหน่วยงานต้นสังกัด จำนวน 235 แห่ง และ 3) ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสอนเท่านั้น กรณีที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแล้ว ต้องมีสัญญาจ้างให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสอน หากเป็นกรณีที่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ต้องมีหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่ออกก่อนวันที่ 19 มีนาคม 2558 เพิ่มเติมจากสัญญาจ้าง
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางอื่นสำหรับผู้ที่จบสาขาอื่นแล้วต้องการเป็นครู ซึ่งคุรุสภาเองก็ไม่ได้กีดกั้นไม่ให้มาเป็นครู แต่หลักการสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้บุคลนั้นมีคุณสมบัติตามมาตรฐานวิชาชีพครู กล่าวคือ มีมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูและมีประสบการณ์ในการปฏิบัติการสอนไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แม้ว่าวิธีการเข้าสู่วิชาชีพครูอาจจะแตกต่างกันไป ดังแนวทางต่อไปนี้
แนวทางที่ 1 การขอรับรองความรู้วิชาชีพครูตามมาตรฐานวิชาชีพครูของคุรุสภา กำหนดให้มี 2 วิธี คือ การเทียบโอน (การนำเอาความรู้ตามหลักสูตรไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี โดยดูจากคำอธิบายรายวิชามาเทียบกับสาระความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครู) ซึ่งในขณะนี้เปิดให้เฉพาะผู้ที่ศึกษาอยู่ก่อนข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ.๒๕๕๖ มีผลบังคับใช้ และยังไม่สำเร็จการศึกษาให้เทียบโอนให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับจากวันสำเร็จการศึกษา และการฝึกอบรม (การจัดอบรมเนื้อหาวิชาชีพครู 9 มาตรฐาน) โดยสามารถใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือสองวิธีรวมกันให้ผ่านการรับรองความรู้วิชาชีพครู เมื่อผ่านการรับรองความรู้ครบ 9 มาตรฐานแล้ว สามารถขอรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงคุณสมบัติของผู้ที่มีมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูแต่ยังขาดประสบการณ์การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี คุรุสภาให้มีสิทธิในการเป็นครูโดยอยู่ในความควบคุมของผู้บริหารสถานศึกษาได้ เมื่อประกอบวิชาชีพครูต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านการประเมินของสถานศึกษาแล้ว สามารถนำแบบประเมินการสอนพร้อมใบอนุญาตปฏิบัติการสอน มาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้
แนวทางที่ 2 การขอรับรองคุณวุฒิ ตามที่กฎหมายมาตรา 44 กำหนดว่าเป็นคุณวุฒิปริญญาทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง คุรุสภาจึงกำหนดให้ผู้ต้องการประกอบวิชาชีพครูสามารถขอรับรองคุณวุฒิได้ตามประกาศหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนด โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นคุณวุฒิที่เป็นความต้องการของผู้ใช้ โดยให้หน่วยงานผู้ใช้ระบุเหตุผลความจำเป็น พร้อมกับผู้นั้นต้องมีประสบการณ์ที่เป็นที่ยอมรับและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวิชาชีพครูตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
สำหรับสถานศึกษาที่มีความจำเป็นต้องรับผู้ที่ยังไม่มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเข้าสอน โดยสถานศึกษาหรือหน่วยงานจะต้องเป็นผู้ขอให้คุรุสภาออก หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งจะต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการขออนุญาตดังกล่าว ซึ่งคุรุสภาจะพิจารณาอนุญาตจากคุณวุฒิ เหตุผลและความจำเป็น หนังสืออนุญาตนี้มีอายุใช้ได้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่คุรุสภากำหนดเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพต่อไป และหากผู้ได้รับอนุญาตลาออกจากสถานศึกษาที่ขออนุญาต ถือว่า ยกเลิกการอนุญาตดังกล่าว เนื่องจากเป็นการอนุญาตให้สอนเฉพาะในสถานศึกษาที่ ขออนุญาตให้เท่านั้น
ที่มา เว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา วันที่ 18 มิถุนายน 2558