“กฤษณพงศ์” วอนมหา’ ลัยเลิกกินเด็ก
อดีต รมว.ศึกษาธิการ ชี้อุดมศึกษาไทยต้องก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยโลก ขณะที่ “กฤษณพงศ์” วอนมหาวิทยาลัยเลิกหารายได้กับเด็ก เน้นคุณภาพ และตอบโจทย์สังคมและดูแลคนทำงาน-สูงอายุมากขึ้นอย่างไร
วันนี้(18 มิ.ย.) ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี มีการจัดเสวนา 4 สภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 6 ประจำปี 2558 หัวข้อ"มหาวิทยาลัยไทย:สู่อนาคตที่ท้าทาย" ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีต รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย 4 แห่ง ได้แก่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.วลัยลักษณ์ ม.ราชภัฏเทพสตรี และม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า สิ่งที่มหาวิทยาลัยต่างมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปให้ถึง คือ การเป็นมหาวิทยาลัยโลก ขณะนี้จำนวนมหาวิทยาลัยไทยที่ติดอันดับโลกยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง อย่างไรก็ตามการจะเป็นมหาวิทยาลัยโลกได้นั้น มหาวิทยาลัยจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองก่อน โดยการดึงคนดี คนเก่งเข้ามาทำงาน ทำให้ทุกคนสนุกและมีความสุขกับการทำงาน มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ มีการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนโดยคัดคนเก่ง คนดี และเปิดโอกาสให้คนมีศักยภาพเข้ามาเรียนด้วย เพราะเด็กกลุ่มนี้สามารถที่จะส่งเสริมสนับสนุนได้ สุดท้ายเรื่องเงินที่จะต้องมีมาสนับสนุนด้วย
ด้าน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การพัฒนามหาวิทยาลัยไทยตามเส้นทางการปฎิรูปการศึกษา"ว่า อีก 30 ปี เด็กระดับประถมศึกษาจะร้าง ตามด้วยระดับมัธยมศึกษา และถึงจะถึงระดับอุดมศึกษาในที่สุด เพราะจำนวนเด็กเกิดน้อยลงเรื่อย ๆ ขณะที่คนวัยทำงานและสังคมผู้สูงวัยจะมากขึ้น ดังนั้นอุดมศึกษาจะต้องตั้งโจทย์ให้ตัวเองใหม่ ที่จะต้องมาช่วยดูว่าจะทำอย่างไรให้คนวัยทำงานที่มีการศึกษาน้อยได้เรียนสูงขึ้นอย่างน้อยระดับอนุปริญญา หรือมีความรู้ประกอบอาชีพได้ ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้คนสูงอายุมีคุณค่าในตัวเอง แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ลงทุนกับคนกลุ่มนี้เลย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องเลิกกินเด็ก หรือหาเงินจากค่าเล่าเรียน แต่เด็กไม่มีความรู้ เช่น เด็กจบมา 10 คน 7 คนไม่รู้ว่าตัวเองเหมาสะมกับอาชีพอะไร หรือจะไปทำงานอะไร และสุดท้ายก็ตกงาน เลี้ยงตัวเองไม่ได้
“จากนี้ไปอุดมศึกษาไทยอย่ามาทึกทักว่าสังคมไทยเห็นความสำคัญของตนเอง แต่ต้องทำให้สังคมเห็นว่าเรามีประโยชน์กับสังคม โดยเฉพาะการทำแผนบริหารงานของมหาวิทยาลัยต้องใช้ปัญญานำ ไม่ใช่ใช้เงินนำอย่างที่ทำอยู่ขณะนี้” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 มิถุนายน 2558