เมื่อมีคนเดินมาสองคน สรีระร่างกายมีลักษณะสมบูรณ์ หน้าตาสวยงามหรือหล่อเหลา แต่งเนื้อแต่งตัวดูมีรสนิยม ที่เห็นอยู่นั้นคือสิ่งที่เป็นรูปธรรม คือ สรีระ ใบหน้า และเมื่อมีการอ้าปากเจรจาพาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงประเด็นสำคัญๆ ก็จะเห็นความแตกต่างของสองคนนั้น ความแตกต่างไม่ได้อยู่ที่สำเนียงการพูดจา ไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา แต่อยู่ที่ความลึกซึ้งของประเด็น ความรู้และข้อมูล และความคิด คำถามที่สำคัญคือ มนุษย์มีกะโหลกศีรษะใกล้เคียงกัน ทำไมจึงผลิตของออกมาไม่เหมือนกัน ถ้าจะวิเคราะห์จะเห็นได้ชัดว่า การอธิบายที่ดีที่สุดคือ การสมมติถึงบุคคลสองคนที่ยืนคู่กัน โดยคนหนึ่งคือคนแรกมีสมองที่มีสิ่งดังต่อไปนี้
1. มีข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์และค่านิยม ในมุมแคบที่ได้มาจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ โรงเรียน การทำงาน และประสบการณ์ที่ดำรงชีวิตมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่เท่ากับอีกคนหนึ่ง
2. คนเดียวกันนี้มีการศึกษาเล่าเรียนและชอบอ่านหนังสือ และได้ข้อมูลความรู้ต่างๆ จนทำให้สมองนั้นมีสิ่งใหม่ๆ บรรจุไว้ ส่วนอีกคนหนึ่งไม่ศึกษาอย่างจริงจัง ไม่นิยมการอ่านหนังสือ สิ่งที่จะเข้าออยู่ในสมองย่อมน้อยกว่าคนแรก มีการกล่าวกันว่า เมื่ออ่านหนังสือไป 10 เล่ม จะรู้สึกเปลี่ยนแปลงในแง่ความคิด การมองปัญหา การมองประเด็น เมื่ออ่านไป 50 เล่ม จะแปลกใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่ออ่านเป็นร้อยๆ เล่มจะเปลี่ยนแปลงจนจำตัวเองไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ความรู้และความคิด
3. คนเดียวกันนี้มีการค้นคว้าวิจัยหาข้อมูลใหม่ๆ และได้รับความรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการอ่าน โดยความรู้และข้อมูลที่ได้นั้นตนรู้แต่เพียงผู้เดียวเพราะเป็นผู้ทำการวิจัยแต่ผู้เดียว ในส่วนนี้ก็จะบรรจุอยู่ในสมองอีก ส่วนอีกคนหนึ่งไม่มีการค้นคว้าวิจัยจึงไม่มีอะไรเพิ่มขึ้น สมองจึงมีช่องว่างอยู่เยอะ
4. คนแรกมีการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูลความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาเล่าเรียน การอ่าน และการค้นคว้าวิจัย จนสามารถสังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่ เกิดความปราดเปรื่องในประเด็นต่างๆ สมองบุคคลนี้ก็จะมีสิ่งใหม่เพิ่มพูนขึ้น ส่วนอีกคนหนึ่งย่อมว่างเปล่าเหมือนเดิม
5. คนแรกมีการถกเถียงปัญหา อภิปราย ประเด็นที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับวิชาการ สังคม ปรากฏการณ์ของโลก และอื่นๆ กับเพื่อนนักวิชาการ หรือเพื่อนร่วมงาน การถกเถียงอภิปรายดังกล่าวนำไปสู่ประเด็นใหม่ๆ เป็นความคิดใหม่ที่ไม่เคยนึกมาก่อนและสามารถนำประเด็นดังกล่าวไปขยายความและต่อยอดได้อีก สมองคนๆ นี้ก็จะเพิ่มพูนขึ้นตามลำดับในแง่ข้อมูล ความรู้ ทฤษฎี ที่สำคัญคือ ความคิด ทักษะในการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ ส่วนอีกคนหนึ่งย่อมไม่มีอะไรเพิ่มเติม
6. บุคคลผู้นี้ใช้ความรู้ที่มีอยู่เขียนหนังสือ เขียนบทความ ตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ ระหว่างที่เขียนต้องจัดความรู้อย่างเป็นระเบียบให้เข้ากับทฤษฎี ใช้การคิดวิเคราะห์นำเสนอโดยการใช้ภาษาที่นำไปสู่การสื่อสารได้อย่างดีในแง่ความรู้วิชาการ จากการเขียนหนังสือดังกล่าวนี้เมื่อทำอยู่เป็นประจำ ก็จะขยายความคิดกว้างขวางยิ่งขึ้น สมองที่มีอยู่นั้นก็จะเต็มไปด้วยข้อมูล ความรู้ ทฤษฎี การคิดวิเคราะห์และอื่นๆ มากกว่าเดิม ในขณะที่อีกคนหนึ่งไม่มีอะไรเพิ่มเติมนอกจากของที่เกิดขึ้นเป็นประจำซ้ำซาก
7. ถ้าบุคคลผู้นี้มีอาชีพในการสอนหนังสือซึ่งจะต้องมีการถ่ายทอดความรู้ที่มี 6 ประการที่กล่าวมาให้กับนักศึกษา ขณะที่ถ่ายทอดนั้นก็นำไปสู่ความคิดใหม่ หรือบางครั้งก็สังเคราะห์กับความคิดที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการตั้งคำถามของนักศึกษาซึ่งจะต้องหาคำตอบจนเกิดประเด็นความคิด นอกเหนือจากนั้นจะต้องมีการค้นคว้าหาความรู้ข้อมูล ขณะเดียวกันก็ต้องสังเคราะห์ความรู้ดังกล่าว กระบวนการทั้งหมดนำไปสู่ความรู้ใหม่ๆ ทำให้สมองได้รับความรู้ใหม่ๆ จากกระบวนการสอนนั้น ส่วนอีกคนหนึ่งอาจไม่มีโอกาสที่จะเพิ่มพูนสิ่งที่อยู่ในสมองได้เลย
8. ถ้าบุคคลผู้นี้ทำงานรับผิดชอบในองค์กรใหญ่ๆ จะต้องมีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นประจำวัน จะต้องเกี่ยวข้องกับมนุษย์เป็นจำนวนมาก จะต้องพยายามใช้ทักษะในการจัดตั้งกำลังคนเพื่อทำกิจกรรม จะต้องรู้ความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์ จะต้องมีความรู้ทางจิตวิทยา ฯลฯ จากประสบการณ์ดังกล่าวนี้จะช่วยเสริมกับทฤษฎีที่กล่าวมาเบื้องต้น หรือบางครั้งจะนำประโยชน์จากทฤษฎีดังกล่าวมาช่วยในการทำงาน ประสบการณ์ที่กล่าวมานี้ก็จะกลายเป็นความรู้อันใหม่ซึ่งเท่ากับเป็นการผสมผสานทฤษฎีและการปฏิบัติ หรือการเรียนรู้จากการกระทำ learning by doing ซึ่งย่อมจะมีส่วนเสริมสร้างสิ่งที่บรรจุในสมองมากกว่าอีกคนหนึ่ง
9. ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ สังเกตสังกาวิธีการทำงาน วิธีการวิเคราะห์ปัญหา วิธีการแก้ปัญหา ฯลฯ เท่ากับเป็นการศึกษาค้นคว้าไปในตัวด้วยการลงสนามที่ต่างประเทศ และนำสิ่งนั้นมาปรับประยุกต์ หรือนำมาผสมผสานในประเทศไทย ความรู้ดังกล่าวนี้ก็จะทำให้สมองของคนนี้ๆ ได้สิ่งที่เข้ามาบรรจุเติมจากที่มี อยู่แล้วมากมายเพิ่มพูนยิ่งขึ้น ซึ่งต่างจากอีกคนหนึ่งซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการเดินทางไปต่างประเทศ หรือแม้จะเดินทางไปต่างประเทศก็ไม่มีความคิดนอกจากมองผ่านๆ หาความสำราญใจ บันเทิงตา ย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากการถ่ายรูป ช้อปปิ้ง และรับประทานอาหาร ความแตกต่างระหว่างสองคนย่อมเห็นได้ชัด
10. เหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นสำหรับผู้ซึ่งมีความคิดในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ จะสามารถเรียนรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าวจนเกิดเป็นความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นในสมอง เช่น คนซึ่งผ่านประสบการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง คนซึ่งผ่านเหตการณ์ทางการเมือง 14 ตุลา 2516, 6 ตุลาคม 2519, 17-20 พฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์ราชประสงค์ ปี 2553 ฯลฯ หรือน้ำท่วมกรุงเทพฯ หรือตัวอย่างการนำกรณีสึนามิในญี่ปุ่นมาขบคิดวิเคราะห์ถึงความมีระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่น และความเห็นแก่ตัวและไร้วินัยของคนบางชาติ ก็จะเห็นการแสดงตัวตนของมนุษย์ในสังคมต่างกัน และมีนัยถึงอนาคตของการพัฒนาประเทศของสองประเทศที่ต่างกัน สิ่งที่กล่าวมานี้คือความรู้จากสถานการณ์พิเศษที่จะบรรจุเข้าไปในสมอง เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการคิดวิเคราะห์ปัญหา อภิปรายเสวนา สอนหนังสือ เขียนหนังสือ ได้ต่อไป ทำให้สมองเพิ่มพูนข้อมูล ความรู้และทฤษฎี ฯลฯ มากยิ่งขึ้น ซึ่งย่อมแตกต่างจากอีกคนหนึ่งที่สมองยังคงไว้ซึ่งความใหม่เอี่ยมถอดด้าม เพราะไม่ค่อยได้ใช้
และนี่คือการอธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่างคนสองคน ที่สรีระร่างกายเหมือนกัน แต่ต่างกันที่สมอง ต่างกันที่ข้อมูล ความรู้ ความคิดและปัญญา ซึ่งจะส่งผลถึงค่านิยมหรือไกลไปจนถึงจิตวิญญาณ (soul) ได้อีกด้วย สมองของคนที่มีการบรรจุมากมายนั้นสรุปได้ว่าจะเป็นสมองของคนที่มี 3 ประการใหญ่ๆ คือ ความรู้ (knowledge) ความคิด (thoughts) ปัญญา (wisdom) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาจิตวิญญาณ (soul) สิ่งที่อาจสรุปได้จากสมองที่ขาดความรู้เนื่องจากขาดส่วนประกอบที่นำไปสู่ความรู้ 10 ข้อ โดยมีเพียงบางข้อก็คือ ความไม่รู้เป็นการจองจำทางจิตใจ หรือแม้กระทั่งเป็นการจองจำทางจิตวิญญาณ (Ignorance is the imprisonment of the mind and probably of the soul)
การหลีกเลี่ยงการถูกจองจำทางจิตใจหรือจิตวิญญาณ ก็คือการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้และปัญญา
ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน, ราชบัณฑิต
ที่มาจาก หนังสือพิมพ์สยามรัฐ