สวัสดีครับท่านผู้สนใจข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกท่านครับ ฉบับนี้มีเรื่องราวต่างๆ มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
๑. ด้านสิทธิและโอกาส
ผมเคยกล่าวมาในสารฉบับที่แล้วๆ มาว่าเด็กที่เกิดขึ้นมาทุกคนจะได้สิทธิคุ้มครองในเรื่องการเลี้ยงดู การได้รับการศึกษา แต่ถึงแม้จะมีกฎหมายบังคับใช้อย่างชัดเจน ซึ่งได้แก่ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ ก็ตาม ก็ยังมีเด็กจำนวนหนึ่งถูกรอนสิทธิดังกล่าว สพฐ.ตระหนักอยู่เสมอว่า ทำอย่างไร เด็กทุกคน จึงจะมีความพร้อมที่เรียน จากข้อมูลที่ผ่านมาเราพบว่าเด็กเล็กในระดับประถมศึกษา จะมีปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย พ่อแม่ยากจน หรือไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ตลอดจนไม่มี พ่อแม่ อยู่กับญาติพี่น้อง สำหรับเด็กในระดับมัธยมศึกษาจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ยาเสพติด ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ถูกทำร้าย ถูกคุกคามทางเพศ สพฐ.พยายามส่งเสริมให้ สพท.และโรงเรียนพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เข้มแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่ทำได้ดี และขณะนี้ สพฐ.กำลังจัดทำโครงการ “คืนความสุขสู่ลูก สพฐ.” โดยจัดกิจกรรมสร้างบ้าน ๘๙ หลังให้นักเรียน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระชนมพรรษา ๘๘ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ งบประมาณในการสร้างบ้านดังกล่าว หลังละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท โดยประมาณ เป็นเงินที่ได้จากการระดมทรัพยากรจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วทั้งประเทศ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เงินเท่านั้นที่ขอรับบริจาค อาจเป็นปูน อิฐ หิน ทราย ก็ได้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จะเป็นผู้รับบริจาค คัดเลือกนักเรียน ตลอดจนประสานความร่วมมือจากทุกส่วนให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการสร้างบ้านครั้งนี้ เป้าหมายก็คือต้องดำเนินการสร้างบ้านนักเรียนให้แล้วเสร็จภายใน วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ร่วมบริจาคเงิน และสิ่งของ เพื่อสร้างบ้านให้นักเรียนได้ที่ สพท.ทุกแห่ง ทั่วประเทศ นะครับ ผมเคยมีความคิดเช่นเดียวกับหลายๆ ท่านที่คิดอยู่ในขณะนี้ ก็คือ การดูแลสารทุกข์สุขดิบขั้นพื้นฐาน ได้แก่ เรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ การสนับสนุนปัจจัย ๔ ให้อยู่ในสังคมได้นั้นไม่ใช่ภารกิจหลักของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะภารกิจดังกล่าวมีกระทรวงที่รับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ปัญหาและความต้องการของประชาชนยังได้รับการตอบสนองได้ไม่หมดครับ หากเราไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เราก็จะเจอสภาพเด็กไม่พร้อมที่จะเรียน และในที่สุดก็จะออกกลางคันไปก่อนจบหลักสูตร ช่วยๆ กันหน่อยนะครับ
๒. ด้านคุณภาพการศึกษา
ฉบับก่อนนี้ผมจั่วหัวไปหน่อยหนึ่งว่า การที่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนจะดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ หลายปัจจัย มีรายงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัย/องค์ประกอบ ที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และให้ข้อค้นพบตรงกันเป็นส่วนใหญ่ว่าองค์ประกอบที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน มี ๕ องค์ประกอบ คือ นักเรียน ครู สภาพโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ซึ่งจำแนกรายละเอียดเป็นตัวแปรในแต่ละองค์ประกอบได้ ดังนี้
นักเรียน มีตัวแปรเรื่อง พื้นความรู้เดิม แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ มโนภาพเกี่ยวกับตัวเอง เวลาที่ใช้ในการเรียน ความสนใจ อายุ ระดับสติปัญญา
ครู มีตัวแปรความรู้ ความสามารถและทักษะในการสอน เจตคติต่อนักเรียน การใช้เวลาเพื่อการสอน ขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน จิตวิญญาณความเป็นครู
สภาพโรงเรียน มีตัวแปร บรรยากาศในชั้นเรียน ขนาดโรงเรียน สภาพภูมิศาสตร์ อัตราส่วน ครู : นักเรียน นักเรียน : ห้อง อุปกรณ์การสอน สื่อ
ผู้ปกครอง มีตัวแปร สภาพแวดล้อมทางบ้าน เจตคติต่อการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความคาดหวังต่อบุตรหลานของตน
ชุมชน มีตัวแปร ความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน โรงเรียนกับชุมชน ระบบโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนสภาพสังคม
จะเห็นว่าตัวแปรที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นตัวแปรเกี่ยวกับตัวนักเรียนและครู เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าตัวแปรที่ส่งผล/มีความสัมพันธ์เชิงสาเหตุต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก็ลองเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ซ้ำดูก็ได้นะครับ จะได้ทราบแน่ชัด แก้ปัญหาได้ตรงจุด
๓. ด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
เรามีการพูดถึงการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ตามหลักธรรมาภิบาลกันมานาน มีการรณรงค์กัน ก็หลายรูปแบบ และทุกคนก็ยอมรับว่า การบริหารจัดการที่ยึดหลักนิติธรรม คุณธรรม โปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ ความคุ้มค่า เป็นสิ่งที่ดีทำแล้วหน่วยงานจะประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ แต่ทำไมก็มีข่าวคราวปรากฏอยู่เนืองๆ ว่า มีการทุจริต ไม่โปร่งใส ไม่รับผิดชอบต่อผลการบริหารจัดการอยู่เนืองๆ เป็นโจทย์ที่ท้าทายเป็นอย่างมาก ความพยายามของ สพฐ. ในเรื่องนี้ ก็คือ ขณะนี้ สพฐ.ได้ดำเนินการใน ๓ เรื่อง การดำเนินการตามมาตรฐานความโปร่งใสของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในการศึกษา นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (Intrigrity and Transparency Assessment : ITA) ทั้ง ๓ เรื่องนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นความริเริ่มจากต่างหน่วยงาน แต่ทิศทางก็ไปทางเดียวกัน กล่าวคือ ITA ของ ป.ป.ช. ก็จะดูในเรื่องความโปร่งใส (Transparency) ความพร้อมรับผิด (Accountability) คุณธรรมการให้บริการของหน่วยงาน (Integrity in Service Delivery) วัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร (Integrity Culture) คุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน (Work Integrity) สำหรับมาตรฐานความโปร่งใสของ ก.พ. ก็จะพิจารณาใน ๔ มิติ คือด้านนโยบายในการสร้างความโปร่งใสของหน่วยงาน ด้านการมีระบบตรวจสอบภายในองค์กรและการมีส่วนร่วม ด้านการใช้ดุลยพินิจ ด้านการมีระบบ/กลไกจัดการรับเรื่องร้องเรียน เรื่องที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด ดำเนินการได้อย่างเข้มแข็ง หรืออ่อนแอขึ้นอยู่กับผู้บริหาร หน่วยงาน ถ้าผู้บริหารจริงจัง ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงระหว่างผลการปฏิบัติกับระบบแรงจูงใจความสำเร็จย่อมเกิดได้ไม่ยากนัก สำคัญแต่เพียงว่า “เอาจริงหรือเปล่า”
ขอจบเพียงแค่นี้ก่อนนะครับ ฉบับหน้าพบกันใหม่ครับ
ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก
รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ที่มา สารจากโฆษก สพฐ.