“พินิจศักดิ์” เตรียมหารือบอร์ดบริหาร ช.พ.ค.ปรับเงื่อนไขกู้ ช.พ.ค.หลังผู้กู้ร้องได้รับความไม่เป็นธรรม พร้อมขอให้ คปภ.เคาะเพดานวงเงินประกันแต่ละประเภท เพื่อนำเข้าเสนอในบอร์ด ก่อนไปเจรจาต่อกับธนาคาร รวมทั้งเสนอบอร์ด ช.พ.ค.ปรับลดหักค่าบริหารจัดการ 4% เหลือ 3.5% เพื่อให้ทายาทหรือผู้รับประโยชน์มีเงินมากขึ้น ยันที่ผ่านมาไม่เคยมีใครไม่ได้รับเงิน
วันนี้ (11 มิ.ย.) นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ สกสค.) กล่าวถึงกรณีผู้กู้เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เรียกร้องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการกู้ยืมเงิน ช.พ.ค.ที่มีเงื่อนไขให้ทำประกันโดยเก็บล่วงหน้า 9 ปีโดยกังวลว่าหากเสียชีวิตทายาทอาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์ ว่า ในการบริหารจัดการเงิน ช.พ.ค.นั้น ตามปกติได้มีการกำหนดรอบระยะเวลาการรับแจ้งสมาชิกเสียชีวิตทุกเดือน ซึ่งในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ 21 พ.ย.2557-20 พ.ค.2558 มีสมาชิก ช.พ.ค.เสียชีวิตจำนวน 3,207 คน เฉลี่ยเดือนละ 400-600 คน โดยทายาทจะได้รับเงินเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 994 แสนบาทต่อคน ซึ่งจากจำนวนดังกล่าวจะต้องถูกหักไว้เป็นค่าใช้จ่ายไม่เกินร้อยละ 4 ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยการฌาปนกิจสงเคราะห์ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจและองค์กรวิชาชีพซึ่งเป็นนติบุคคลที่อยู่ภายใต้กำกับของรัฐ พ.ศ. 2547 ในกิจการต่าง ๆ อาทิ ค่าบริหารจัดการ ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการต่างทั้งในส่วนกลางและสำนักงาน สกสค.จังหวัด ค่าผ้าไตร พวงหรีด เป็นต้น ที่เหลือก็จะนำมาคำนวณเพื่อจ่ายให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิต
“ในการจ่ายเงินให้ทายาทจะแบ่งเป็นสองงวด โดยงวดแรกจะจ่ายทันที 2 แสนบาทสำหรับเป็นค่าบริหารจัดการศพของสมาชิกที่เสียชีวิต ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 7 แสนบาทจะจ่ายในงวดถัดไปภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่การประกาศรายชื่อตามรอบระยะเวลาการแจ้งถึงแก่กรรม ซึ่งกำหนดให้ประกาศรายชื่อในวันที่ 25 ของทุกเดือนที่สำนักงาน สกสค.จังหวัดและขึ้นไว้บนเว็บไซต์ สกสค. www.otep.go.th เพราะฉะนั้น กรณีร้องเรียนว่าไม่มีการประกาศรายชื่ออาจเพราะผู้ร้องเรียนไม่เคยเปิดเข้าไปดู อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านไม่เคยมีทายาทคนใดที่ไม่ได้รับเงินหลังสมาชิก ช.พ.ค.เสียชีวิต แต่จะมีปัญหาล่าช้าบ้างในกรณีต่างๆ อาทิ มีการร้องคัดค้าน กรณีสมาชิกเสียชีวิตด้วยการฆาตกรรม เป็นต้น ซึ่งกรณีเหล่านี้หากกระบวนการตรวจสอบเรียบร้อย ช.พ.ค.ก็จะจ่ายเงินให้ต่อไป”นายพินิจศักดิ์ กล่าว
ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.กล่าวต่อว่า ส่วนกรณี ที่มีผู้ร้องเรียนโดยขอให้ตรวจสอบการกู้เงิน ช.พ.ค. ของ ธนาคารออมสิน และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่รับทำประกันสินเชื่อกลุ่มครูที่กู้เงิน ทำประกันภัยโดยไม่มีกรมธรรม์ การหักค่าเบี้ยประกันภัยในครั้งเดียวเป็นระยะเวลาถึง 9 ปี นั้นเมื่อเร็วๆนี้ ตนได้เชิญบ.ทิพยประกันภัยฯ มาให้ข้อมูล และเชิญสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการรประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)มาหารือได้รับคำอธิบายว่า เนื่องจากผู้รับผลประโยชน์คือธนาคารออมสิน ในฐานะเป็นเจ้าของเงินกู้จึงต้องสร้างหลักประกัน และมีข้อเสนอให้ทำประกัน แต่เพราะการทำประกันชีวิตจะเสียค่าประกันสูง จึงได้มีข้อเสนอให้ทำเป็นโครงการพิเศษเป็นประกันอุบัติเหตุ สุขภาพ และสินเชื่อ โดยเก็บล่วงหน้า 9 ปีเพราะมีความครอบคลุมและเสียเบี้ยประกันน้อยกว่าทายาทไม่ต้องรับภาระหนี้ แต่เมื่อมีผู้ร้องเรียนว่าเบี้ยประกันมีวงเงินสูงเกินไป ก็อาจจะต้องมาหารือว่าควรต้องมีการปรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การปลอยกู้หรือไม่ ทั้งนี้ ตนได้ขอให้ คปภ.ช่วยไปกำหนดเพดานการเก็บเงินประกันแต่ละประเภทว่าควรอยู่ที่เท่าใดเพราะแต่ละประเภทเก็บไม่เท่ากัน ทั้งประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ รวมถึงประกันอุบัติเหตุ สุขภาพ และสินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการ ช.พ.ค.ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้จะเสนอให้ที่ประชุมรับทราบในเรื่องดังกล่าว และนำเสนอให้ปรับเงื่อนไขการปล่อยกู้ด้วยโดยจะนำรายละเอียดที่ขอให้ คปภ.จัดทำเข้าหารือ จากนั้น จะต้องหารือร่วมกับธนาคารออมสินถึงความเป็นไปได้ว่าดำเนินการตามบอร์ดได้หรือไม่ เพราะมองว่าในส่วนของผู้กู้รายใหม่น่าจะมีโอกาสได้เลือก ซึ่งปัจจุบันมียื่นขอมาแล้วประมาณ 1,000 คน รวมทั้งจะเสนอให้มีมาตรการดำเนินการกับผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ เพราะเวลานี้ยอดชำระน้อยกว่ายอดค้างชำระ เพราะเข้าใจมีการสื่อสารอย่างไม่ถูกต้องว่าไม่ต้องนำเงินมาชำระหนี้ เพราะสกสค. ได้รับเงินคืนจากธนาคารออมสินส่วนหนึ่งและมีเงินสำรองจ่ายแทนอยู่แล้วทั้งที่เงินจำนวนนี้ต้องใช้ในการบริหารจัดการต่างๆ ขณะเดียวกันจะหารือปรับลดค่าบริหารจัดการ 4% ที่หักจากเงินช.พ.ค.ให้เหลือ 3.5% เพื่อทายาทหรือผู้รับผลประโยชน์ได้รับเงินช.พ.ค มากขึ้น
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 11 มิถุนายน 2558