กลุ่มครูสอบตก ผอ.-รอง ผอ.ฟ้องศาลปกครองหลายพื้นที่ เรียกร้องทำนองเดียวกัน ขอให้เปิดเผยข้อสอบทั้งหมด และประกาศให้การสอบครั้งที่แล้วเป็นโมฆะ ด้าน "กมล" เผยทำไม่ได้ ยกเว้นเป็นคำสั่งศาล ยันจะดำเนินการตามขั้นตอนหลังประกาศผลสอบต่อไป
ตัวแทนครูในพื้นที่ จ.นครราชสีมายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2558
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มผู้เข้าสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางในหลายจังหวัด เพื่อขอให้ยกเลิกกระบวนการจัดสอบ เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการจัดสอบไม่มีความโปร่งใส เป็นธรรม ว่า ตนทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว จากรายงานพบว่ามีการฟ้องศาลปกครองในหลายพื้นที่ และสำนวนการฟ้องร้องมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยเท่าที่ดูส่วนใหญ่ ผู้ที่ยื่นฟ้องจะเป็นกลุ่มผู้ที่สอบไม่ผ่านการคัดเลือก แม้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จะมีการตรวจข้อสอบข้อสอบและให้คะแนนใหม่ไปแล้ว แต่กลุ่มที่ฟ้องส่วนใหญ่ก็ยังได้คะแนนไม่ถึง โดยมีข้อเรียกร้องหลักๆ อยู่ 2 ประเด็น คือ ขอให้เปิดเผยข้อสอบและตรวจคะแนนทั้งหมดใหม่ และขอให้ยกเลิกกระบวนการสอบ แต่เนื่องจากข้อเรียกร้องทั้งหมดอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล ดังนั้น สพฐ.คงต้องรอให้ศาลมีคำสั่งออกมาก่อนจึงดำเนินการตามที่ศาลสั่ง
นายกมลกล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องมีข้อสงสัยกระบวนการตรวจสอบไม่มีการเปิดเผยข้อสอบและเฉลยคำตอบนั้น เมื่อข้อสอบมีความคลาดเคลื่อน มศว ก็เปิดให้ดูข้อสอบและกระดาษคำตอบในข้อที่เกิดความสงสัย แต่ไม่ได้เปิดให้ดูทุกข้อ และจากนั้นก็ได้มีการตรวจสอบข้อสอบและเฉลยใหม่ทั้งหมดแล้ว ซึ่งทุกอย่าง สพฐ.ดำเนินการไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดสอบที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด ส่วนจะต้องให้เขตพื้นที่ฯ ชะลอการบรรจุแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการประกาศรายชื่อขึ้นบัญชีไปแล้วหรือไม่นั้น เรื่องนี้ สพฐ.คงไม่สามารถดำเนินการได้ กระบวนการต่างๆ ต้องเดินหน้าต่อไป ยกเว้นศาลมีคำสั่งให้ชะลอ หรือยกเลิกกระบวนการจัดสอบทั้งหมด
"เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผมจะไปหารือฝ่ายกฎหมาย เพื่อดูการดำเนินการให้เกิดความรอบคอบ ยืนยันว่าการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นไปตามกระบวนการและหลักเกณฑ์การคัดเลือกตามที่ ก.ค.ศ.กำหนดทุกอย่าง แต่เมื่อมีปัญหาฟ้องร้องเกิดขึ้น สพฐ.ก็ต้องรอคำสั่งศาล ขณะเดียวกันกระบวนการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ก็ต้องเดินหน้าต่อไป ส่วนเมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว อาทิ สั่งให้จัดสอบใหม่ทั้งหมด หรือชะลอการบรรจุแต่งตั้ง สพฐ.ก็ต้องดำเนินการตามนั้น ทุกอย่างแล้วแต่ศาลจะพิจารณา ซึ่งหากผลการพิจารณาของศาลมีผลกระทบ และทำให้เกิดความเสียหายกับใคร อาทิ ผู้ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งไปแล้ว ที่ต้องถูกยกเลิกการบรรจุแต่งตั้งแล้วจะฟ้องกลับ สพฐ. ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ เพราะทุกอย่างต้องดำเนินการตามขั้นตอน" เลขาฯ กพฐ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 10 มิถุนายน 2558