สพฐ.สั่งเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ป้องกันปัญหาทุจริต ฮั้วประมูล การดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดทำโครงการ สพฐ.ใสสะอาด เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตต่างๆ ใน สพฐ. โดยมีการเริ่มโรงเรียนสุจริตต้นแบบ การประเมินการทำงานเขตพื้นที่ฯ ซึ่งมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 20 เขต และโรงเรียนประมาณ 200 แห่ง เข้าร่วมโครงการ และใช้เครื่องมือจากโครงการประเมินคุณธรรมและความโป่รงใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ Integrity and Transparency Assessment (ITA) ของ ป.ป.ช.มาดำเนินการนั้น ต่อไปนี้ตนจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการตรวจสอบดังกล่าวใหม่ ให้ทุกสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศจะต้องเข้ารับการตรวจสอบเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจากเครื่องมือดังกล่าว เพื่อให้การจัดซื้อจ้างมีความโปร่งใสและสร้างหลักธรรมาภิบาลในสถานศึกษาและเขตพื้นที่ฯ
เลขาฯ กพฐ.กล่าวต่อว่า การที่ต้องดำเนินการป้องกันการเข้มข้น เนื่องจาก สพฐ.เป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณจำนวนมาก และหากไม่มีระบบตรวจสอบที่ถูกต้องก็อาจถูกเพ่งเล็งจนหลายคนตีความว่าเป็นเรื่องทุจริตได้ และที่ผ่านมากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เขตพื้นที่ฯ เคยดำเนินการมานั้น ผู้ปฏิบัติไม่มีความไม่เข้าใจและไม่มีความรู้ หรือไม่เข้าใจรายละเอียด จนละเลยข้อกำหนดของการจัดซื้อจัดจ้างบางอย่าง ขณะเดียวกันในกรณีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล เมื่อไม่มีบริษัทมายื่นประมูลทำโครงการต่างๆ ทำให้โรงเรียนต้องใช้วิธีพิเศษหรือลดขั้นตอนลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำเครื่องมือ ITA เข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และตนเชื่อว่าเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยตรวจสอบเขตพื้นที่ฯ อีกขั้นหนึ่ง ว่ามีการกำหนดแผนการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ หรือมีการประกาศแจ้งข้อมูลให้หน่วยงานอื่นๆ ได้รับทราบมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการตรวจสอบ วิเคราะห์ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกต้องด้วย อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่าระบบตรวจสอบ ITA จะช่วยป้องกันการทุจริตและปัญหาการฮั้วประมูลได้อย่างแน่นอน.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 10 มิถุนายน 2558